สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเทศ ยุโรปถือหนี้ไขว้เพียบ อัดฉีดเงินกู้ กรีซ เท่ากับอุ้ม ยูโรโซน

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในที่สุดสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็จำเป็นต้องเข้ามาอุ้ม "กรีซ" เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สาธารณะมหาศาลของประเทศแห่งนี้ โดยเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือระยะ 3 ปี ในวงเงิน 110 พันล้านยูโรแลกกับการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดของกรีซ

ภายใต้ข้อตกลง 3 ปีนี้ กรีซจะได้รับ เงินกู้ 80 พันล้านยูโรจากประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรโซน และอีก 30 พันล้านยูโรจาก ไอเอ็มเอฟ ซึ่งเงินกู้จากกลุ่มยูโรโซนต้องรอการอนุมัติจากรัฐสภาของหลายประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส

วอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า การอุ้มครั้งนี้ช่วยขจัดความกังวลว่ากรีซจะไม่มีเงินชำระหนี้ 8.5 พันล้านยูโร ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ไปได้ แต่กลับสร้างคำถามใหม่ว่ากรีซจะสามารถเดินหน้ามาตรการหั่นรายจ่ายขนานใหญ่ ได้สำเร็จหรือไม่

หลังจากรัฐบาลกรีซสัญญาว่าจะลด เงินเดือนข้าราชการก่อนจะไม่ปรับขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง พร้อมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบุหรี่ และแอลกอฮอล์เก็บภาษีธุรกิจแบบใหม่ ลดบำนาญ ขยายเวลาการเกษียณอายุของข้าราชการ ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยรัฐประหยัด งบประมาณได้ 30 พันล้านยูโรไปจนถึง ปี 2556

กรีซตั้งเป้าว่าหากรัฐบาลเดินได้ ตามแผนจะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศกลับมาเติบโต 1.1% ในปี 2555 และภาระหนี้จะเพิ่มจาก 133.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้เป็น 145.1% ใน ปีหน้าก่อนพุ่งสู่ระดับสูงสุดที่ 149.1% ใน ปี 2556 และคาดว่าจะลดเหลือ 144.3% ของจีดีพีในปี 2557 ส่วนการขาดดุลงบประมาณจะลดเหลือ 8.1% ในปีนี้ ก่อนปรับลงเหลือ 7.6% ในปีหน้า 6.5% ในปี 2555 และ 4.9% ในปี 2556 ก่อนจะลดลงต่ำกว่า 3% ตามมาตรฐานสหภาพยุโรปในปี 2557




นาย จอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซ แถลงต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอาทิตย์ (2 พ.ค.) อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการหั่น งบประมาณอย่างหนัก โดยยอมรับว่า "ข้าพเจ้ารู้ว่าด้วยการตัดสินใจวันนี้ประชาชนจะต้องยอมเสียสละมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางเลือกอื่นคือความหายนะ และความ เจ็บปวดที่มากกว่าสำหรับพวกเราทุกคน"

แต่ท่ามกลางความยินดีของรัฐบาล ที่จะได้รับเงินกู้ช่วยเหลือ ฟากฝั่งของผู้นำสหภาพได้ตั้งธงพร้อมเดินหน้าประท้วงในวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นเวทีแรกที่จะแสดงการคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล

ทั้งนี้ หากมองตามข้อเท็จจริงแล้วการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกรีซครั้งนี้ นิวยอร์ก ไทมส์ เห็นว่า เยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะในช่วงทศวรรษนับตั้งแต่มีการใช้เงินสกุล "ยูโร" เศรษฐกิจในทวีปนี้ได้โยงใยไขว้กันมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลจากการกู้ยืมและการทำธุรกิจภาคธนาคารแบบข้ามแดน ซึ่งทำให้หลายประเทศในยุโรปติดหนี้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งขยายวงไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ร่ำรวย เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศสด้วย

ลักษณะ เช่นนี้คล้ายคลึงกับความเป็นพันธมิตรที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ล้มตามกันเป็นโดมิโนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศหนึ่ง สามารถทำให้ประเทศอื่น ๆ หกคะเมนตามไปได้เช่นกัน ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ถึงผลกระทบที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เมื่อสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สเปนและโปรตุเกส เมื่อวันอังคาร (27 เม.ย.) ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงกันถ้วนหน้า รวมทั้งตลาดสหรัฐ

สำหรับ ครั้งนี้โดมิโนตัวแรก คือ กรีซ ซึ่งปัจจุบันติดหนี้ธนาคารในโปรตุเกสเกือบ 10 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โปรตุเกสถูกเอสแอนด์พีปรับลดอันดับเครดิตลง 2 ระดับ อีกทั้งยังเผชิญกับต้นทุนการกู้ที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยหากกรีซผิดนัดชำระหนี้จะส่งแรงสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับโปรตุเกส

ขณะ ที่โปรตุเกสเองก็เป็นหนี้ธนาคารต่าง ๆ ในสเปนอยู่ราว 86 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งตราสารหนี้ของสเปนเพิ่งถูกปรับลดอันดับเครดิตลง 1 ระดับเมื่อสัปดาห์ก่อน

ในอีกด้านหนึ่งไอร์แลนด์ก็เป็นหนี้เยอรมนีและ อังกฤษ ซึ่งรวมกันแล้วมีมูลค่ามหาศาล เช่นเดียวกับธนาคารเยอรมนีที่กำลังแบกรับความเสี่ยงผูกพัน จากการเป็นเจ้าหนี้สเปนที่มีมูลค่า 238 พันล้านดอลลาร์

ข้อมูลของ แบงก์ ฟอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เซตเทิลเมนต์ระบุว่า นอกจากสเปนเป็นหนี้ธนาคารเยอรมนีแล้ว ก็ยังเป็นลูกหนี้ธนาคารฝรั่งเศส โดยมีมูลหนี้ 220 พันล้านดอลลาร์

ด้านอิตาลีที่สถานะการเงินสั่น คลอนอยู่อย่างต่อเนื่อง ติดหนี้สเปนอยู่ 31 พันล้านดอลลาร์ พร้อมกับเป็นหนี้ฝรั่งเศสอีกราว 511 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของจีดีพีเมืองน้ำหอม

ด้วยปรากฏการณ์ข้างต้นนี่เองที่ทำให้เอริก ไฟน์ ผู้บริหารแวน เอค จี-175 สแตรทิจี กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เชี่ยวชาญด้านสกุลเงินและหนี้ตลาดเกิดใหม่ มองว่าการอัดฉีดเงินช่วยเหลือครั้งนี้ไม่ใช่การเข้ามาอุ้มกรีซ แต่เป็นการอุ้มระบบยูโร

อย่างไรก็ตาม เดิร์ค ฮอฟฟ์แมนน์-เบกกิ้ง นักวิเคราะห์ธนาคารของอัลไลแอนซ์ เบิร์นสไตน์ ในลอนดอน แสดงความคิดเห็นว่า ทางออกไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ทันที และสุดท้ายแล้วทุกคนต่างบอกว่า ไม่รู้ว่าจะรับมือกับสิ่งนี้อย่างไร พวกเราไม่รู้ว่าช่องทางต่าง ๆ ทำงานอย่างไร หรือปัญหาต่อไปจะเกิดขึ้นที่ไหน

ทั้งนี้ หลังรัฐสภาของประเทศกลุ่มยูโรโซนอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว จะมีการอัดฉีดเงินก้อนแรกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนที่เหลือจะทยอยจ่ายเป็นงวด ๆ ตลอด 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่ากรีซจะต้องหั่นการใช้ งบประมาณและเพิ่มการเก็บภาษี

view