สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิเคราะห์ชี้แผนกู้ฉุกเฉินไม่แก้ ปัญหาแท้จริง / อัดยาแรงกู้ชีพยุโรปดีชั่ววูบ

จากประชาชาติธุรกิจ

นักวิเคราะห์ชี้แผนเงินกู้ฉุกเฉินอุ้มวิกฤต ไม่ได้แก้ปัญหาการทำหน้าที่ผิดปกติของการรวมตัวทางการเงินของยุโรป ขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังคงใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายและบังคับให้พันธมิตรต้องยอมรับภาระค่าใช้ จ่ายไปด้วย

 ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้เห็นชอบให้ประเทศกลุ่มยูโรโซน 16 ประเทศ ร่วมกันปล่อยเงินกู้ใหม่มูลค่าสูงถึง 572 พันล้านดอลลาร์ ผนวกกับโครงการปล่อยกู้เดิมที่มีมูลค่า 78 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะอัดฉีดเงินอีก 325 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มีเม็ดเงินรวมกันถึงเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์

  ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปจะระดมทุนในตลาดหุ้น โดยอาศัยการการันตีจากรัฐบาลประเทศสมาชิก เพื่อปล่อยกู้ให้กับประเทศที่เผชิญกับวิกฤต ช่วยให้ประเทศเหล่านั้นสามารถชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคำถามที่ยังไร้คำตอบ อาทิเช่น จะมีการจัดสรรเงินก้อนนี้อย่างไร และมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

  บทวิเคราะห์ของเอพีระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์เตือนว่า กองทุนเงินกู้ฉุกเฉินจะไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ของยุโรป แต่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก โดยเจเรมี แบทสโตน-คารร์ จากโบรกเกอร์หุ้นชาร์ลส์ สแตนเลย์ วิเคราะห์ว่า กระบวนการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นให้แก่กรีซและอาจรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่เป็นหนี้ จะเพิ่มสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะของภูมิภาคอย่างมาก โดยไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญจริงๆ

  เจ้าหน้าที่ของอียูกล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือการร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างเศรษฐกิจของประเทศ สมาชิก รวมทั้ง การกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศสมาชิกมีหนี้สูงเกินไป ทั้งนี้ ยูโรโซนจำกัดการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่กลับมีการละเลยเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง

 มาร์โค แอนนันเซียต้า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของยูนิเครดิต กรุ๊ป แสดงความคิดเห็นว่า ส่วนสำคัญที่ขาดหายไปคือขั้นตอนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวินัยการเงินและการปฏิรูปโครงสร้าง ทั้งนี้ ณ ขณะนี้ การรวมตัวทางการเงินที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ ต้องการการรวมตัวเชิงการเมืองที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

  ขณะเดียวกันเฮอร์แมน ฟาน รอมเปย ประธานสหภาพยุโรป กล่าวว่ารัฐบาลของประเทศยุโรปต้องพิจารณาการรวมอำนาจของชาติและจัดตั้ง รัฐบาลเศรษฐกิจร่วม โดยชี้ว่า "เราไม่สามารถมีการรวมตัวทางการเงิน โดยปราศจากการรวมตัวทางการเมืองและเศรษฐกิจรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และนี่คืองานใหญ่สำหรับในช่วงไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนข้างหน้า

 นอก จากนี้ยังเปิดเผยว่า จะร่างข้อบังคับที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้ผู้นำอียูได้พิจารณาร่วมกันในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหามากกว่าข้อจำกัดปัจจุบันของอียูเรื่องการขาดดุลงบ ประมาณและหนี้

  ด้านไซมอน ทิลฟอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์เพื่อการปฏิรูปยุโรป เตือนว่า นับถึงปัจจุบัน รัฐบาลประเทศกลุ่มอียูยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางที่เคยปฏิบัติมาเลย

 "สิ่งที่ยุโรปต้องการ คือข้อตกลงการเติบโต เพราะหากปราศจากการเติบโต ฐานะการเงินภาครัฐก็จะไม่มีเสถียรภาพ และตลาดพันธบัตรจะเป็นตัวกดดันให้อียูต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น"

 ความ คิดนี้สอดคล้องกับทัศนะของประธานสหภาพยุโรป ที่เตือนว่า โครงการสวัสดิการที่มีต้นทุนสูงจะอยู่ในภาวะเสี่ยงหากอียูไม่สามารถเร่งการ เติบโตของเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% ในปีนี้

  ขณะเดียวกันเจนนิเฟอร์ แมคโคน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านยุโรปของแคพิทัล อีโคโนมิกส์ แสดงความคิดเห็นว่า มาตรการเงินกู้ฉุกเฉินจะไม่ทำให้เศรษฐกิจอย่างกรีซ โปรตุเกส และสเปน รอดพ้นจากความเสียหายที่เกิดจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเป็นเวลา ยาวนาน และจะไม่ขจัดความวิตกเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ หรือการพังพาบของเงินยูโร

 "เราจะยังคงเห็นเงินยูโรอ่อนค่าต่อไปสู่ระดับ ประมาณ 1.20 ดอลลาร์ต่อยูโรภายในสิ้นปีนี้"

 นอกจากนี้ ไมเคิล ชูเบิร์ต นักเศรษฐศาสตร์ของคอมเมิร์ซแบงก์ กล่าวว่า การช่วยเหลือนี้จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมไร้ความรับผิดชอบของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซน หากพวกเขารู้ว่าจะมีการเข้ามาอุ้มหากมีการใช้จ่ายมากเกินไป

 ธนาคาร เอ็นไอบีซี ของเนเธอร์แลนด์ ระบุในงานวิจัยว่า ในระยะยาว ทางออกเดียวสำหรับประเทศที่ประสบปัญหาเหมือนกรีซคือ การปรับโครงสร้างหนี้ในที่สุด หรือการผิดนัดชำระหนี้เชิงเทคนิค กล่าวคือ เจ้าหนี้จะไม่ได้รับการชำระหนี้ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับยอดเงินกู้เต็มที่พวก เขาปล่อยให้กับรัฐบาล


อัดยาแรงกู้ชีพยุโรปดีชั่ววูบ

จาก โพสต์ทูเดย์

ตัวการของปัญหานี้คือ การขาดวินัยทางการเงินอย่างรุนแรง เพราะหลายประเทศปล่อยให้งบประมาณติดลบมหาศาล ทั้งๆ ที่ EU กำหนดไว้แล้ว

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ในที่สุดสหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คลอด “โรดแมป” ที่เป็นรูปธรรม หลังจากปล่อยให้ตลาดมีปฏิกิริยาที่สับสนมาระยะหนึ่งว่า มาตรการกอบกู้วิกฤตหนี้สินของกรีซและประเทศอื่นๆ ในยุโรปจะออกมาในรูปใด หรือจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคร้ายทางการเงินการคลังที่กัดกร่อนเศรษฐกิจ ยุโรปมายาวนานได้อย่างชะงัดหรือไม่

หลังจากที่มีการเสนอรายละเอียดแผนออกไป เงินยูโรมีความเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นในทันตา หลังจากทิ้งตัวลงมาในระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่ตลาดหุ้นพลอยฟื้นไข้ไปด้วย เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐทิ้งตัวเกือบ 1,000 จุด จนยังผลให้ตลาดหุ้นเอเชียรวนเร ถึงขั้นที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องจัดเงินทุนเร่งด่วนเพื่อพยุงหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตศรัทธาที่ กำลังก่อตัวขึ้นในยุโรป

เมื่อคลี่รายละเอียดของมาตรการกู้วิกฤตการเงินของยุโรปออกมา จะพบว่ามีความชัดเจนในเรื่องแหล่งทุนและกลไกในการนำแหล่งทุนมาพยุงสถานการณ์ ในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน

เริ่มจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เจียดเงินกองกลาง 6 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.46 ล้านล้านบาท) เพื่ออัดฉีดให้กับประเทศที่ใช้เงินยูโร หรือกลุ่มยูโรโซนในกรณีที่เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังจัดเงินเฉพาะกิจอีก 5 หมื่นล้านยูโร (ราว 2 ล้านล้านบาท) สำหรับให้ความช่วยเหลือประเทศนอกกลุ่มยูโรโซน และเงินกู้เหล่านี้จะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตรา 5% เท่ากับที่เรียกเก็บจากเงินช่วยเหลือที่ให้กรีซ
นอกจากนี้ EC ยังจะกู้ยืมเงินจากตลาดทุน โดยมีงบประมาณของ EU เป็นหลักประกันเงินกู้ โดยตามกลไกของ EU จะเปิดทางให้สามารถกู้เงินได้ถึง 4.4 แสนล้านยูโร (ราว 18 ล้านล้านบาท)

กลไกที่สำคัญที่สุดคือการจัดตั้ง “กลไกรักษาเสถียรภาพของยุโรป” ซึ่งจะมีเงินทุน 5 แสนล้านยูโร (ราว 20 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ IMF ยังอัดฉีดเงินหนุนกองทุนสำหรับกลไกนี้อีก 2.5 แสนล้านยูโร (ราว 10 ล้านล้านบาท) รวมเป็นเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (ราว 30.7 ล้านล้านบาท)

ยังไม่นับความช่วยเหลือ “ทางอ้อม” ของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินพยุงตลาดหุ้นของ BOJ ซึ่งถือเป็นการฉีดภูมิคุ้มกันไม่ให้เอเชียพลอยติดโรคร้ายทางการเงินจากยุโรป

และยังมีคำมั่นสัญญาจากธนาคารกลางแคนาดา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐ ที่จะเข้าแทรกแซงในกรณีที่เงินเหรียญสหรัฐร่อยหรอลงจากตลาดยุโรป ส่วนธนาคารกลางของยุโรปเริ่มซื้อพันธบัตรของกลุ่มประเทศยูโรโซนเพื่อรักษา เสถียรภาพของเงินยูโร

นับโดยรวมแล้วเงินทุนสำหรับกู้สถานการณ์ครั้งนี้สูงถึงกว่า 1 ล้านล้านยูโร แผนการที่เป็นรูปธรรมพร้อมด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากนานาประเทศ มีส่วนช่วยอย่างมากในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของตลาด หลังจากที่เกิดความโกลาหลจนหวุดหวิดที่จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เหมือนเมื่อครั้งวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540 ซึ่งครั้งนั้นไทยเป็นระเบิดลูกแรก และตามมาด้วยเกาหลีใต้ และอินโดนีเซียอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากความเชื่อมั่นถูกบ่อนทำลายลงด้วยน้ำมือของนักเก็งกำไรค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม “ความเชื่อมั่น” เป็นสิ่งที่เปราะบางอย่างมาก และพร้อมที่จะเปราะแตกได้ง่ายดายอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่พื้นฐานของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐในช่วงเวลาที่ยังจมอยู่กับวิกฤตการเงินและภาวะเศรษฐกิจ ถดถอยเคยประสบมาแล้ว
กล่าวโดยรวบรัดก็คือ แม้ยุโรปจะมีมาตรการมารับประกันฐานะทางการเงินและความเชื่อมั่นในกรณีที่ เกิดวิกฤตการณ์ไม่คาดฝัน และไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานที่ยังผลให้เกิดวิกฤต หนี้ในหลายประเทศได้

นั่นคือปัญหาที่สมาชิก EU และยูโรโซนมีหนี้สินรุงรัง หรือมีปัญหางบประมาณขาดดุลเรื้อรัง

ตัวการของปัญหานี้คือ การขาดวินัยทางการเงินอย่างรุนแรง เพราะหลายประเทศปล่อยให้งบประมาณติดลบมหาศาล ทั้งๆ ที่ EU กำหนดไว้แล้วว่า งบประมาณขาดดุลจะต้องไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ หาไม่แล้วจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเงินยูโร

ตราบใดที่ EU ยังไม่อาจดัดนิสัยให้ประเทศในกลุ่มยูโรโซนเลิกมือเติบเกินความจำเป็นได้ ตราบนั้นต่อให้อัดฉีดเงินกู้สถานการณ์หลายล้านล้านยูโร หรือมีกลไกที่ซับซ้อนเพียงใด ยุโรปก็จะยังหาเสถียรภาพทางการเงินไม่พบ

นี่เองที่กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่บางประเทศ เช่น เยอรมนีและอังกฤษ ลังเลที่จะช่วยเหลือกรีซ เพราะหากช่วยกรีซแล้วก็จำต้องช่วยเหลือสเปนหรือโปรตุเกส หรือประเทศใดๆ ก็ตามที่ยุโรปจำเป็นต้องกระโดดเข้าอุ้ม เพื่อไม่ให้ตนเองต้องรับเคราะห์ไปด้วย และต้องทำเช่นนั้นอยู่ร่ำไป

ในแง่มุมนี้การแก้ปัญหาด้วยมาตรการล่าสุดจึงให้ผลเพียงระยะสั้น แต่เสี่ยงที่จะก่อปัญหาในระยะยาว

อีกปัญหาคือ ยุโรปยังขาดมาตรการในการรับมือหรือสกัดกั้นความพยายามที่จะเก็งกำไรค่าเงิน ยูโร เพราะขณะนี้มีเพียงคำขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของ โจเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธาน EC ที่เตือนว่า ความพยายามใดที่จะโจมตีค่าเงินยูโรจะพบกับความล้มเหลว และต้องพบกับการตอบโต้จาก EU

คาดว่าท่าทีที่เป็นเพียงลมปากของ EU อาจเป็นเพราะ EU ซ่อนเจตนาที่แท้จริงไว้ เนื่องจากการปล่อยให้เงินยูโรปราศจากเกราะกำบังจากการโจมตีค่าเงิน เพื่อตกเป็นเป้าการเก็งกำไรในระดับที่ยอมรับได้ จะช่วยให้ภาคส่งออกคึกคักขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของยุโรปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงสุด 5 อันดับแรกของยุโรป คือ ไอร์แลนด์ (14.3%) กรีซ (13.6%) อังกฤษ (11.5%) สเปน (11.2%) และโปรตุเกส (9.4%) ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบด้วยกันทั้งสิ้น
ด้วย เหตุนี้ “คำขู่” จึงเพียงพอแล้วกับสถานการณ์ในขณะนี้ เพราะหากเกิดปรากฏการณ์ระดมโจมตีขึ้นจริง กองทุนกว่า 1 ล้านล้านยูโร จะช่วยให้รับมือได้ในระดับหนึ่ง และพอมีเวลาที่จะวางมาตรการรับมือ

อย่างไรก็ตาม จากข้อสันนิษฐานข้างต้น การปล่อยเงินยูโรให้ปราศจากเกราะกำบัง อาจเป็นความเสียหายที่ไม่คุ้มกับการเสี่ยงเพื่อกระตุ้นภาคส่งออก

EU จึงจำเป็นต้องกำหนดท่าทีของตนเองต่อกระแสการเก็งกำไรโดยด่วน หาไม่แล้วการแสดงท่าทีกำกวมเช่นนี้ อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่ล่อลวงภัยมืดในตลาดการเงินให้คืบคลานเข้ามาในช่วงเวลา ที่ทุกฝ่ายกำลังสาละวนกับการแก้ปัญหาและเคลียร์หนี้ของตัวเอง
ปัญหาระยะ ยาวเพียงแค่ 2 ปัญหาที่หยิบขึ้นมานี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะฉุดรั้ง EU ให้พบกับหายนะได้

แม้ว่าจะพยายามฉีดยาแรงเพื่อแก้พิษการเงินมากครั้งเพียงใดก็ตาม

view