จาก โพสต์ทูเดย์
จุดอ่อนคือการวางแผนสั่งงานไปยังอาสาสมัครมูลนิธิโดยเฉพาะ มูลนิธิบางแห่งเข้าไปอยู่ในสถานที่ชุมนุมเสมือนเป็นผู้ชุมนุมทำให้ส่งผลต่อ การทำงาน
โดย -ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
ตลอด 69 วัน ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนสลายการชุมนุมจากแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. มีผู้ตกเป็น “เหยื่อ” ที่ได้รับบาดเจ็บ 1,885 คน เสียชีวิต 88 คน ในจำนวนนี้มีอาสาสมัครกู้ชีพเสียชีวิต 2 คน อาการสาหัส 1 คน เฉพาะบริเวณแยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค. ว่า มีผู้บาดเจ็บ 467 คน เสียชีวิต 56 คน
นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จะเสนอบทสรุปที่ได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ สพฉ. พิจารณา และในวันที่ 1 มิ.ย. จะเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 38 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเสื้อเกราะให้กับเจ้าหน้าที่ 200 ชุด วงเงิน 10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนเกินผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนช่วงเกิดเหตุทางการเมือง 10 ล้านบาท ค่าอยู่เวรเจ้าหน้าที่ 6 ล้านบาท และค่าปฏิบัติของรถพยาบาล 10 ล้านบาท
ภาพ ประกอบข่าว
นพ.ธวัตชัย วงศ์คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า ปัญหาสำคัญในการปฏิบัติงานคือมีการสั่งการจากหลายสายงาน เนื่องจากโรงพยาบาลตั้งอยู่ในพื้นที่อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จึงมีผู้บังคับบัญชาหลายคน นอกจากนี้ยังมีการสั่งการจาก สพฉ.อีก เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่สับสน อีกทั้งโทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณติดต่อสื่อสารลำบาก ต้องใช้วิทยุสื่อสารเพื่อติดต่อกัน และที่สำคัญเครื่องแบบไม่ได้ช่วยหน่วยกู้ชีพ เพราะหน่วยกู้ชีพโดนเจ้าหน้าที่ยิง 2 คน โดยเฉพาะหน่วยกู้ชีพที่โดนยิงขณะใช้รถจักรยานยนต์
ด้าน นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า มีปัญหาการประสานงาน ที่ผ่านมาไม่มีนายทหารประสานงานโดยตรงมายังหน่วยปฏิบัติ ทำให้การทำงานยากมาก จะไปปฏิบัติงานจุดหนึ่งต้องติดต่อแม่ทัพภาค และไล่ลงมาเรื่อยๆ
“จุดอ่อนที่อยากฝาก สพฉ. และศูนย์เอราวัณ คือ การวางแผนสั่งงานไปยังอาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ โดยเฉพาะมูลนิธิเล็กๆ บางแห่งเข้าไปอยู่ในสถานที่ชุมนุมเสมือนเป็นผู้ชุมนุม ทำให้ส่งผลต่อการทำงานในภาพรวมเป็นอย่างมาก”
นันทนา เมษประสาท ตัวแทนกลุ่มงานมาตรฐาน ศูนย์เอราวัณ กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บในวัดปทุมวนารามราชวิหารตั้งแต่เย็น แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ ส่วนหนึ่งเพราะรถพยาบาลฉุกเฉินที่จะเข้าไปถูกตั้งข้อสงสัยว่าอยู่ฝ่ายตรง ข้าม ในขณะที่ผู้ชุมนุมก็มองว่าอยู่อีกฝ่าย จึงควรแก้ไขปัญหานี้
นพ.ต่างแดน พิศาลพงษ์ แพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บอกว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมามีการแจ้งให้ ไปรับศพ แต่ปรากฏว่าในศพมีระเบิดลูกเกลี้ยง โชคดีที่ไม่ระเบิด นอกจากนี้ยังมีการนำผู้ที่ก่อเหตุเผาตึกที่ได้รับบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลไม่ทราบว่า ควรส่งให้ตำรวจหรือจะให้ปล่อยตัวไป ประสานไปยังทหารก็ไม่มีความชัดเจนเช่นกัน
ด้าน นพ.ฉัตรบินทร์ จิตนะศิลปิน แพทย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กทม. บอกว่า ยอมรับมีหน่วยกู้ชีพบางส่วนเข้าไปในม็อบจริง อาจเป็นเพราะชอบสีนั้นสีนี้ แต่เวลาปฏิบัติงานต้องยึดหลักเป็นกลาง และควรเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่เอาความบ้าบิ่นมาทำงาน หรือบางคนไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน
ที่ประชุมได้เสนอว่า ต่อไปควรมีนายทหารจากส่วนกลางทำหน้าที่ ประสานงานให้อาสาสมัครกู้ชีพเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ รวมทั้งทำบัตรผ่านที่ชัดเจนเพื่อความสะดวกในการผ่านด่าน
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเยียวยาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนผลกระทบเชิงลบต่อสังคม รวมทั้งจัดกิจกรรมให้ชุมชนร่วมกันทำประโยชน์ ลดความขัดแย้งและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่โทร. 02-590-1994 เวลาราชการ และโทรสาร 02-590-1993