โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
|
|
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ |
|
|
หลังช่วงเวลาตึงเครียดของบ้านเมืองผ่านพ้นไปด้วยความเศร้าสลดของ กลุ่มโจรก่อการร้ายที่อำมหิตผิดมนุษย์ ทำได้แม้กระทั่งการเผาบ้านเผาเมืองที่เป็นผืนแผ่นดินเกิดของตนเพียงเพื่อคน คนเดียว นับจากนี้ไปคนไทยที่รักพ่อหลวงรักแผ่นดินไทยคงจะหายใจหายคอกันได้ทั่วท้อง มากขึ้น สำหรับฉันเองก็เช่นกันหลังจากที่จิตตกกับภาวะไม่ปกติในบ้านเมืองมานาน ในครั้งนี้ฉันจึงถือโอกาสชวนพวกเราชาวไทยเมืองพุทธไปร่วมทำบุญ ไหว้พระ เวียนเทียน เนื่องใน "วันวิสาขบูชา" ที่ปีนี้ตรงกับวันที่ 28 พ.ค. โดยในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาครั้งนี้ ฉันเลือกที่จะไปยัง "พุทธ มณฑล" จังหวัดนครปฐม ศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในวันวิสาขบูชา ฉันบอกเช่นนี้อาจจะงง ดังนั้นฉันขอเล่าความเป็นมาของพุทธมณฑลกันก่อนเลย ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ.2495 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำริจัดสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2500
|
|
หินสัญลักษณ์รูปธรรม จักรขนาดใหญ่ที่ตำบลปฐมเทศนา |
|
|
ต่อมาใน พ.ศ.2498 รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระประธานพุทธมณฑล และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา แต่การก่อสร้างก็มีการชะลอตัวไประยะหนึ่งเนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้งานก่อสร้าง พุทธมณฑลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปได้อย่างรวดเร็ว และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พอดี สำหรับสิ่งที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดของพุทธมณฑลก็คือ "พระ ศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลา ศิลปะสุโขทัย ขนาดใหญ่ สูง 15.875 เมตร พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกล พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อและปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
|
|
มหาวิหารประดิษฐาน พระไตรปิฎกหินอ่อน ตรงกลางประดิษฐานพระเจดีย์รวม 9 ยอด |
|
|
ในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียดเท่ากับ 1/4 นิ้ว) ปัจจุบันเราจึงเห็นพระประธานพุทธมณฑลสูงเด่นเป็นสง่าใหญ่กว่าต้นแบบถึง 7.5 เท่า นอกจากพระศรีศากยะทศพลญาณฯ แล้ว ในพื้นที่ 2,500 ไร่ ของพุทธมณฑลก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกมาก อย่างเช่นบริเวณรอบๆ องค์พระประธานได้จัดพื้นที่ทำเป็น "สังเวชนีย สถาน 4 ตำบล" คือตำบลประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพาน ซึ่งตำบลทั้งสี่นี้กำหนดทิศตามพุทธประวัติ โดยมีพระศรีศากยะทศพลญาณฯ พระประธานพุทธมณฑลเป็นหลัก
|
|
รูปเหมือนหลวงพ่อวัด ปากน้ำประดิษฐานภายในโดมใต้พระเจดีย์ |
|
|
สำหรับตำบลประสูติ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีหินสัญลักษณ์รูปดอกบัวกำลังแย้ม 7 ดอก ด้านบนเป็นลายนูนรูปพระพุทธบาทที่สลักชื่อแคว้นต่างๆ 7 แคว้น ที่พระพุทธองค์ไปประกาศพระธรรมคำสั่งสอน และสลักพระคาถาเป็นรูปวงกลมบนหินนั้นด้วย ส่วนตำบลตรัสรู้ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีหินสัญลักษณ์รูปโพธิบัลลังก์ แกะสลักจากหินแกรนิต ด้านตำบลปฐมเทศนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีหินสัญลักษณ์เป็นรูปธรรมจักรขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้งห้า และตำบลสุดท้ายคือ ตำบลปรินิพาน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีหินสัญลักษณ์รูปแท่นไสยาสน์ และรูปแท่นที่นั่งของพระอานนท์ ด้านบนของแท่นไสยาสน์แกะสลักเป็นลายนูนรูปดอกบัว 3 ดอก ส่วนด้านข้างแกะเป็นดอกและใบสาละร่วงซึ่งเปรียบเสมือนร่วงลงมาจากสรวงสวรรค์
|
|
พระเจดีย์มหา รัชมังคลาจารย์รายล้อมด้วยเจดีย์รวมเป็นเก้ายอด |
|
|
อีกหนึ่งจุดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หากใครมาเยือนยังพุทธมณฑลก็ต้องไม่พลาดที่จะไปยัง "มหาวิหาร ประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน" ที่เริ่มสร้างปี พ.ศ. 2532 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541 ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข ภายในมีแผ่นหินอ่อนจารึกพระไตรปิฎก ขนาด 1.10 x 2.00 เมตร จำนวน 1,418 แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบนโดยรอบ สำหรับการจารึกพระไตรปิฏกนั้นได้ทำพิธีปฐมฤกษ์ ณ พระอุโบสถ วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2531 และเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2539 โดยในทุกขั้นตอนของการจัดสร้างและจารึกพระไตรปิฏกลงในหินอ่อนนี้ เป็นความร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุ สามเณร แม่ชี บัณฑิตวัดปากน้ำ และพุทธศาสนิกชน โดยแบ่งเป็น 3 ปิฏก ได้แก่ พระวินัยปิฏก จำนวน 196 แผ่น พระสุตตันตปิฏก จำนวน 836 แผ่น และพระอภิธรรมปิฏก จำนวน 386 แผ่น
|
|
ภายในมหาวิหาร ประดิษฐานพระไตรปิฏกหินอ่อน |
|
|
ส่วนพื้นที่ตรงกลางของมหาวิหารฯจตุรมุข มีพระเจดีย์มหารัชมังคลาจารย์รายล้อมด้วยเจดีย์รวมเป็นเก้ายอด เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุพระสารีบุตรเถระ พระธาตุพระโมคคัลลานะเถระ พระธาตุพระสิวลีเถระ และพระผงวัดปากน้ำ ส่วนพื้นที่ภายในโดมใต้พระเจดีย์ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อวัดปากน้ำให้เราๆ ได้กราบไหว้กันด้วย ต่อไปเป็น "วิหารพุทธมณฑล" เป็นอาคารชั้นเดียว และเป็นอาคารที่สร้างเป็นหลังแรกในพุทธมณฑล สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น 2 ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่างเลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ลวดลายภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป 8 องค์ และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 25 พุทธศตวรรษขนาด 2,500 มม.
|
|
หอสมุดพระพุทธศาสนา มหาสิรินาถ |
|
|
"พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา" ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ ตั้งอยู่ภายในอาคารทรงไทย บริเวณสวนธรรม ภายในพิพิธภัณฑ์ใช้เป็นที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆ และนิทรรศการ แต่ปัจจุบันปิดปรับปรุงและยังไม่มีกำหนดเปิดที่แน่นอนเนื่องจากขาดงบประมาณ อีกสถานที่หนึ่งที่หากพุทธศาสนิกชนต้องการที่จะรู้เรื่องราวของพุทธมณฑล อย่างละเอียด หรือต้องการข้อมูลทางพระพุทธศาสนา ก็สามารถมาศึกษาค้นคว้าได้ที่ "หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ" โดยภายในหอสมุดฯ จุได้ 500 คน มีหนังสือประมาณ 500,000 เล่ม ซึ่งจัดเรียงหนังสือตามระบบหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ที่ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ
|
|
บรรยากาศอันร่มรื่น ภายในพุทธมณฑล |
|
|
นอกจากนี้ภายในบริเวณพุทธมณฑลยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ที่สร้างให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชเมื่อเสด็จมาประกอบพิธีทางพระ พุทธศาสนาที่พุทธมณฑล, ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ เป็นที่พักของคณะสงฆ์ทั้งไทยและต่างประเทศที่มาปฏิบัติศาสนกิจ, หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุน และหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลางมีขนาด 1.60 เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เป็นต้น
|
|
บริเวณสวนเวฬุวันที่ มากมายด้วยต้นไผ่และต้นไม้ใหญ่ |
|
|
พุทธมณฑลไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ที่มีไว้ทำกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ความร่มรื่นของสวนไม้ไทยต่างๆ เช่น สวนสมเด็จ สวนสมุนไพร สวนเวฬุวัน สวนตะโก สวนตาล และอีกมากมายหลายสวนที่ทำให้พุทธมณฑลเขียวขจีร่มเย็น และยังทำให้มีประชาชนนิยมเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย รวมทั้งมาปิกนิกกินข้าวกันอีกด้วย วันวิสาขบูชาที่กำลังจะเวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งนี้ ใครยังไม่มีโปรแกรมฉันขอแนะนำให้มาร่วมทำบุญเวียนเทียน และอีกหลากหลายกิจกรรมที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจัดขึ้น ณ พุทธมณฑล แห่ง นี้
|
|
เด็กๆก็สามารถมา เที่ยวเล่นในพุทธมณฑลได้อย่างสนุกสนาน |
|
|
|