สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โฮมสเตย์...ทางเลือกท่องเที่ยวไทย ปี 2553

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย : ปัญญา ไกรทัศน์

       ปี 2546 สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เริ่มต้นมีบทบาทในการจัดทำมาตรฐานบริการด้านการท่องเที่ยวและแหล่งท่อง เที่ยว มาตรฐานโฮมสเตย์ไทยถูกริเริ่ม ดำเนินการตรวจประเมิน และให้การรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยเป็นประจำทุกปี นับจากปี 2547 เป็นต้นมา โดยมีกรอบระยะเวลาของการดำรงอยู่ของมาตรฐานคราวละ 3 ปี หลังจากนั้นจะต้องถูกประเมินมาตรฐานใหม่ จนกระทั่งวันนี้มี 115 แห่งทั่วประเทศ
       
        ภายใต้กรอบคำจำกัดความ ของ มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย หรือ ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทมาตรฐานไทย ที่ว่า บ้านที่อยู่ในชุมชนชนบทที่มีประชาชนในชุมชนเป็นเจ้าของ และเจ้าของบ้าน หรือสมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่เป็นประจำ หรือ ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในบ้านดังกล่าว โดยบ้านดังกล่าวนี้ต้องมีความพร้อมในการเป็นโฮมสเตย์ และยอมรับคุณสมบัติ 6 ประการ อันประกอบด้วย
       
        ประการแรก เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวต้องถือว่า การทำโฮมสเตย์เป็นเพียงรายได้เสริมนอกเหนือรายได้จากอาชีพหลักของครอบครัว เท่านั้น
       
        ประการที่สอง มีห้องพัก หรือ พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเหลือ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ สามารถนำมาดัดแปลงให้นักท่องเที่ยวเข้าพักได้
       
        ประการที่สาม นักท่องเที่ยวต้องเข้าพักค้างแรมในชายคาเดียวกับที่เจ้าของบ้านอาศัยอยู่ โดยมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตระหว่างกัน
       
        ประการที่สี่ สมาชิกในครอบครัวต้องมีความยินดีและเต็มใจที่จะรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามา ค้างพักแรมในชายคาเดียวกับเจ้าของบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นนั้นแก่นักท่องเที่ยว
       
        ประการที่ห้า เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวให้ความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการโฮมสเตย์ เป็นอย่างดี
       
        ประการที่หก บ้านนั้นต้องเป็นสมาชิกของกลุ่ม ชมรม หรือสหกรณ์ ที่ร่วมกันจัดการโฮมสเตย์ของชุมชนนั้น
       
        เมื่อจะเข้าร่วมโครงการมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย เจ้าของโฮมสเตย์จะต้องยอมรับในมติหลักเกณฑ์การพิจารณาโฮมสเตย์ของคณะกรรมการ มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ใน 5 หลักเกณฑ์ด้วยกัน นั่นคือ
       
        หลักเกณฑ์แรก ต้องมีคุณสมบัติโฮมสเตย์เบื้องต้น 6 ประการครบถ้วน
       
        หลักเกณฑ์ที่สอง จำนวนหลังคาเรือนที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ชมรม สหกรณ์โฮมสเตย์อย่างน้อย 3 หลังคาเรือนขึ้นไป
       
        หลักเกณฑ์ที่สาม บ้านที่ขอรับการประเมินทุกหลัง ต้องมีเลขที่บ้านที่ออกให้โดยส่วนราชการ
       
        หลักเกณฑ์ที่สี่ ที่ตั้งของชุมชน หรือ กลุ่มโฮมสเตย์ หรือ บ้านพัก ต้องไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เป็นต้น ยกเว้น ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
       
        หลักเกณฑ์ที่ห้า ดำเนินการจัดทำโฮมสเตย์ตามข้อกำหนดมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยของสำนักงานพัฒนาการ ท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
       
        ซึ่งหากโฮมสเตย์รายใด ผ่านการประเมินมาตรฐาน จะได้รับมอบตราสัญลักษณ์โฮมสเตย์ที่ต้องติดตั้งในจุดที่สามารถมองเห็นได้ ชัดเจน โดยมีอายุคราวละ 3 ปี เมื่อครบวาระแล้วจะต้องยื่นขอรับการประเมินใหม่
       
        ปี 2553 มีโฮมสเตย์จากทั่วทุกภาครวม 33 จังหวัดจาก 66 โฮมสเตย์ยื่นขอตรวจรับการประเมินจากคณะกรรมการมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย อันประกอบด้วย
       
        ภาคใต้ 5 จังหวัด 6 แห่ง มี กลุ่มเกาะมุกด์โฮมสเตย์ อำเภอกันตัง ตรัง ,กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศโฮมสเตย์บ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ ชุมพร, กลุ่มโฮมสเตย์บ้านเกาะกลาง อำเภอเมือง กระบี่,กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา สุราษฏร์ธานี, ละอูโฮมสเตย์ อำเภอหัวหินและกลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์บ้านรวมไทย อำเภอกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์
       
        ภาคเหนือ 9 จังหวัด 17แห่ง มี โฮมสเตย์บ้านจะแล อำเภอเมืองเชียงราย,โฮมสเตย์ไทยบ้านสันป่าม่วง,โฮมสเตย์ไทยบ้านร่องไฮ,โฮ มสเตย์ไทยบ้านฮวกแห่งทุ่งผาหม่น พะเยา,โฮมสเตย์บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน, โฮมสเตย์ดอยปู่หมื่น อำเภอฝาง ,โฮมสเตย์บ้านเมืองกี๊ด ,โฮมสเตย์แม่โจ้บ้านดิน อำเภอแม่แตง เชียงใหม่, โฮมสเตย์บ้านเริงกะพง ,โฮมสเตย์เทียง เวียงทอง อำเภอปางศิลาทอง กำแพงเพชร,โฮมสเตย์บ้านเมาะหลวง อำเภอแม่เมาะ,โฮมสเตย์จำปี อำเภอเถิน,ท่ามะโอโฮมสเตย์ อำเภอเมือง ลำปาง,โฮมสเตย์บ้านสวนสวย ,โฮมสเตย์มะขามทอง อำเภอเขาค้อ เพชรบูรณ์ และศิลาเพชรโฮมสเตย์ อำเภอปัว น่าน
       
        ภาคกลาง 5 จังหวัด 16 แห่ง มี กลุ่มโฮมสเตย์บ้านบางพลับ อำเภอบางคณฑี,กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือนไม้หอม อำเภอเมือง, กลุ่มโฮมสเตย์บ้านหัวหาด ,กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศสวนหลวง ,กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเทิดไทร่วมใจ อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม, โฮมสเตย์บ้านไร่ไทรงาม อำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี,ห้วยเขย่งโฮมสเตย์ อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี, ภูมิธรรมโฮมสเตย์ อำเภอเมือง,นวรัตน์โฮมสเตย์ อำเภอลานสัก,ลุงทองโฮมสเตย์ ไร่ไซเบอร์ อำเภอบ้านไร่ อุทัยธานี ,ท่าด่านโฮมสเตย์,ท่าชัยโฮมสเตย์ อำเภอเมือง,โฮมสเตย์หมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับคลอง 5 อำเภอองครักษ์ บุ่งเข้โฮมสเตย์ อำเภอปากพลี และสำราญโฮมสเตย์ อำเภอเมืองนครนายกและลำไทรโฮมสเตย์ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
       
        ภาคตะวันออก 3 จังหวัด 8 แห่ง มี บ้านตุ่นโฮมสเตย์ อำเภออรัญประเทศ,ปางสีดาโฮมสเตย์ อำเภอเมือง,คลองพระสทึงโฮมสเตย์ อำเภอวังน้ำเย็น,ลานหินดัดโฮมสเตย์ อำเภอเมือง,แม่สมหวังโฮมสเตย์ อำเภอเขาฉกรรจ์ สระแก้ว, โฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ ตราด, โฮมสเตย์บ้านปูวังปลา อำเภอแหลมสิงห์ ,ซากไทยโฮมสเตย์ จันทบุรี

       ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด 19 โฮมสเตย์ มี โฮมสเตย์บ้านสระบัว อำเภอนาดูน มหาสารคาม,กลุ่มโฮมสเตย์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตำบลเตาไห อำเภอเพ็ญ,บ้านเดียมโฮมสเตย์ อำเภอกุมภวาปี อุดรธานี,โฮมสเตย์บ้านกอก อำเภอมัญจาคีรี ขอนแก่น,โฮมสเตย์บ้านนาหมอม้า อำเภอเมือง,โฮมสเตย์นาอุดม อำเภอเสนางคนิคม อำนาจเจริญ, นาอ้อโฮมสเตย์ อำเภอเมือง,โฮมสเตย์บ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน เลย,บ้านท่าเรือโฮมสเตย์ อำเภอนาหว้า นครพนม,โฮมสเตย์การท่องเที่ยวตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์,กลุ่มโฮมสเตย์บ้านโพน อำเภอคำม่วง กาฬสินธ์, โฮมสเตย์บ้านเป้า อำเภอหนองสูง,โฮมสเตย์บ้านหนองหล่ม อำเภอดอนตาล มุกดาหาร ,โฮมสเตย์ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า,โฮมสเตย์หมู่บ้านวัฒนธรรมภูไทห้อง แซง,โฮมสเตย์ตำบลศรีฐาน ยโสธร โฮมสเตย์วังคำแคน อำเภอเมือง,โฮมสเตย์เก่าย่าดี และภูสองชันโฮมสเตย์ อำเภอแก้งคร้อ ชัยภูมิ
       
        ประดาโฮมสเตย์ที่ยื่นขอเข้ารับการประเมินทั้งหมด จะต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยภายใต้หัวข้อ การบริหารจัดการโฮมสเตย์ตามมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ที่จะชี้ให้เห็น สถานการณ์การท่องเที่ยวโฮมสเตย์ในประเทศไทยและการพัฒนาเครือข่ายโฮมสเตย์ พร้อมทั้งกระบวนการตรวจประเมินมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยและทดสอบตนเองจนกระทั่ง เกิดความมั่นใจว่า
       
        ผ่านการประเมินร้อยเปอร์เซ็นต์
       
        จึงจะมีการคัดเลือกผู้ที่ผ่านการประเมินเพื่อมอบตราสัญลักษณ์ในช่วงเดือน กันยายนของทุกปี
       
        นี่คือท่องเที่ยวทางเลือกอีกทางหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมุ่งเน้น สัมผัสวัฒนธรรมและวิถีแห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านผ่านชาวบ้านอย่างแท้ จริง

view