จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : บุษกร ภู่แส
ผู้ชายหลายคน คงรู้สึกงงกับปฏิกริยาของแฟนสาวที่หงุดหงิดแบบไร้สาเหตุ มิหน่ำซ้ำยังทำเสียงสูงใส่เหมือนกับตัวอิจฉาในละครอย่างงัยอย่างงั้น
ทางการแพทย์ถือว่าอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติที่สามารถเกิด ขึ้นได้ในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จนกระทั่งถึงผู้หญิงวัยทอง เรียกในทางการแพทย์ว่า อาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS ย่อมาจาก Premenstrual Syndrome
ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ ไม่เคยได้ยินคำว่า PMS หรือ PMDD มาก่อน จึงคิดว่าอาการก่อนมีประจำเดือนนี้เป็นภาวะทาง ธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษา และมักใช้วิธีรักษาด้วยตัวเองโดยใช้ถุงน้ำร้อน ดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ รับประทานยาแก้ปวด หรือใช้ยาสมุนไพรเพื่อช่วยบรรเทาอาการแบบชั่วครั้งชั่วคราว
จากการศึกษาระบุว่า ผู้หญิงที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยทำงานช่วง 16-35 ปี จะมีอาการ PMS ก่อนมีประจำเดือนค่อนข้างมากถึง 60% และแต่จะมีเพียง 3% เท่านั้นที่เข้าข่าย PMDD ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงานได้
ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล สูตินารีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน จะมีทั้งอาการที่แสดงออกทางร่างกายและทางอารมณ์โดยอาการที่แสดงออกทางร่าง กายได้แก่ ท้องอืด ปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง ปวดศีรษะ อยากอาหารรับประทานอาหารมากผิดปรกติ อ่อนเพลีย ปวดตามข้อต่อและกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ คัดตึงหน้าอก
ส่วนอาการที่แสดงออกทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด ควบคุมสติไม่ได้ รู้สึกขัดแย้ง ความสนใจต่อกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง ขาดสมาธิ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วง 7-10 วันก่อนมีประจำเดือน และจะหายไปเมื่อมีประจำเดือน 2-3 วัน
" ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ที่ประสบภาวะ PMS ไม่ได้ใส่ใจที่จะหาวิธีรักษา เพราะความคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณบอกว่าประจำเดือนกำลังจะมา จึงเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติที่ผู้หญิงทุกคนต้องประสบอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าอาการเหล่านี้จะลดคุณภาพการทำงาน การเรียน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน "
ส่วนสาเหตุของการเกิด PMS แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเพศในระหว่างรอบประจำเดือน ความรุนแรงของอาการแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุ เช่น ลักษณะการใช้ชีวิต ความเครียด และกรรมพันธุ์ แต่สิ่งที่เราอธิบายได้คือฮอร์โมนจากรังไข่มีผลต่อสื่อประสาทในสมองที่มีผล ต่ออาการเหล่านี้ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงเวลานั้น ส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ มีผลกระทบต่อคนรอบข้าง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่มีความรุนแรงมากกว่า PMS ซึ่งอาจมีอันตรายต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่มีอาการเป็นอย่างมาก และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษา ส่วนเกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าเป็นอาการ PMDD หรือไม่นั้นสังเกตได้ว่ามีอาการก่อนมีประจำเดือน ตั้งแต่ 5 อาการ หรือมากกว่านั้น และต้องมีความรุนแรงของอาการมากเพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ประจำวัน รวมทั้งต้องมีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วยอย่างน้อยหนึ่งอาการ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา บอกต่อว่า หากอาการไม่รุนแรงมากเข้าข่าย PMS ผู้ที่เป็นสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการออกกำลังกาย เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารก็ดีเช่นทานผักผลไม้มากขึ้น แทนที่จะทานอาหารหวาน ที่มีน้ำตาลมากหรือไขมันมาก ตลอดจนมีการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถ้าเป็นมากไม่สามารถจะลดได้ด้วยตนเอง ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบางครั้งอาจใช้ควบคู่กับยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ เช่น ออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ โยคะ พักผ่อน
ส่วนการรับประทานน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสเพื่อช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนใน ร่างกายนั้น ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เชิงประจักษ์ที่จะบอกแน่ชัดว่าช่วยรักษาอาการได้เหมือนกับยาที่มีการวิจัยมา แล้ว
ในฐานะสูตรนารีแพทย์ แนะนำว่า ผู้หญิงควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องภาวะทางอารมณ์ที่อาจมาจากอาการก่อนมีประจำเดือน เพราะอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เพราะร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียด ทำให้นอนไม่หลับ ปวดเกร็งตามท้ายทอย หัวไหล่ เพราะกล้ามเนื้อเกร็งตัว กระทบต่อการทำงาน เพราะไม่มีสมาธิ ทำให้การงานล่าช้าหรือบกพร่อง กระทบต่อความสัมพันธ์ ทั้งเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัว
เพราะอารมณ์รุนแรงจะแสดงออกมาทางการสื่อสาร ทำให้คนรอบข้างเครียดไปด้วย กลายเป็นคนไม่น่ารัก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรหันมาให้ความสนใจมากขึ้น หากมีอาการผิดปกติกับตนเองควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี
อาการ ก่อนมีประจำเดือน แบ่งได้เป็น 3กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มแรกอาการป่วยทางอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิด ขี้โมโห เครียด คิดมาก กังวล ท้อแท้ หลงลืม บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวนมากกว่านี้ เช่น ซึมเศร้า เพ้อ คลุ้มคลั่ง หรืออาจทำร้ายตัวเอง
กลุ่มอาการที่สองคืออาการป่วยทางร่างกาย ได้แก่ อาการปวดหรือเจ็บตามบริเวณต่างๆเช่น เจ็บทรวงอก ต่อมน้ำนม หรือหัวนม เรียกอาการนี้ว่าแมสทัลเจีย (mastalgia) นอกจากนี้ยังมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง บวม ท้องอืด วิงเวียนศีรษะ เป็นสิว อ่อนเพลีย
กลุ่มอาการที่สามคืออาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น หน้าท้องขยายร่างกายสะสมน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ผู้หญิงบางคนอาจมีน้ำหนักเพิ่มได้ถึง 1-2กิโลกรัมในช่วงก่อนมีประจำเดือน หลังจากนั้นน้ำหนักจะลดลงได้เอง