สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลวิจัยชี้โซเชียลมีเดียถูกใช้สร้างขัดแย้ง

จาก โพสต์ทูเดย์   

มีเดียมอนิเตอร์เผยผลศึกษาเครือข่ายสังคมออนไลน์พบถูกใช้เป็น เครื่องมือสร้างความขัดแย้งแตกแยกเป็นหลักทั้งเฟซบุ๊ก-เว็บบอร์ด-ฟอร์เวิร์ด เมล-ทวิตเตอร์

นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดียมอนิเตอร์) ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเครือข่าย สังคมออนไลน์ โดยพบว่า เครื่องมือการสื่อสารในสังคมออนไลน์ 4 อย่างคือ เว็บบอร์ด ฟอร์เวิร์ดเมล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ล้วนกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความแตกแยกเป็นหลัก

 

นาย ธาม นำเสนอผลการศึกษาโวเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ในเครือข่ายเฟซบุ๊กมีการตั้งกลุ่มผ่านชื่อที่มีเป้าหมายทางการ เมืองชัดเจน ซึ่งเป็นตัวจุดกระแสให้เกิดกลุ่มอื่นๆตามมาอีกมาก รวมทั้งมีการสอดแนม เผ้าระวังการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามเพื่อนำมาประจาณ ประณามต่อสาธารณะ

ขณะที่เว็บบอร์ดได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีการโต้เถียงอย่างดุเดือด มีการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงเท็จเช่นไรและมัก เข้าข้างฝ่ายตนมานำเสนอ ส่วนฟอร์เวิร์ดเมล ได้กลายเป็นเครื่องในการแพร่กระจายรายละเอียดพฤติกรรมบุคคล ข้อมูลส่วนตัวและครอบครัว และชักจูงโน้มน้าวให้มีความเกลียดชัง บอยคอตฝ่ายตรงข้าม

ด้านทวิตเตอร์ แม้จะเข้ามามีบทบาทในลักษณะของการนำเสนอข่าวสารอย่าวรวดเร็วแบบนาทีต่อนาที แต่ก็มีข้อบกพร่องในแง่ของความสมบูรณ์และความน่าเชื่อถือของเนื้อหา   

ทั้งนี้พบว่าในทุกๆเครือข่ายช่องทางจะมีการสร้างความเกลียดชัง และการปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะการใช้ วาจาที่แสดงความเกลียดชัง เช่น การเสียดสี ประชดประชัน ส่อเสียด ซึ่งทำให้ความขัดแย้งครอบคลุมในทุกมิติของสังคม นอกจากนี้ยังรุนแรงถึงขั้นประกาศว่าคนอีกฝ่ายไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่มนุษย์ ไม่สามารถอยู่ร่วมประเทศหรือสมควรแบ่งแยกประเทศ

นายธามเสนอว่า การสื่อสารในสังคมออนไลน์สามารถนำมาใช้เป็นกลวิธีเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ทางการเมือง 5 วิธีดังนี้ 1.การรวมกลุ่มโดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารสร้างความสามัคคี ผ่านกิจกรรมในทางสร้างสรรค์ปลอดความรุนแรง สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง รวมทั้งการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ

2.การแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ในลักษณะประนีประนอม สร้างความรู้สึกคิดเห็นที่สุภาพผ่านการสนทนาแลกเปลี่ยนในเชิงมิตรภาพ 3.การตรวจสอบ เฝ้าระวังการรายงานข่าวของสื่อ เพื่อสำรวจเนื้อหาการรายงานข่าวของทั้งสื่อไทยและต่างประเทศ ที่อาจมีความผิดพลาด คลาดเคลื่อน และมีกระบวนการสืบค้นหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวอื่นๆมาตรวจสอบอย่างเสรี

4.การสร้างกลุ่มสื่อสาร ตรวจสอบ ขุดคุย นำเสนอข้อมูลความจริง และความรู้ที่ปราศจากอคติ ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมากในปัจจุบัน โดยจะเป็นการนำข้อเท็จจริงต่างๆมาร่วมเผยแพร่ อาทิ ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ หลักฐาน ภาพถ่าย วีดีโอ ข่าวเก่า บทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง

5.การสื่อสารวาทกรรมสันติภาพ การให้อภัย ความรักสามัคคี ซึ่งพบในทุกช่องทางสื่อสาร โดยบุคคลที่โพสต์ข้อความเหล่านี้มักใช้วาทกรรมในลักษณะวางตนเองเป็นผู้ ประสาน ประนีประนอม เป็นกลาง ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งลกบรรยากาศความรุนแรงทางการเมืองจากการวิวาทะลง

ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า ในเฟซบุ๊ก มีการตั้งกลุ่มทางการเมืองถึง 1,307 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ไปในทางเดียวกันมากที่สุดคือ กลุ่มต่อต้านคนเสื้อแดง 423กลุ่มคิดเป็น32.4% กลุ่มรักในหลวง/รักสถาบัน 144กลุ่ม 11% กลุ่มรักประเทศไทย 121กลุ่ม 9.3% กลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง 118 กลุ่ม 9% กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล 77กลุ่ม 5.9% กลุ่มต่อต้านรัฐบาล 74กลุ่ม 5.7%

ขณะที่เนื้อหาการสื่อสารในทวิตเตอร์แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มที่เผยแพร่ข่าวการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักข่าวหรือองค์กรสื่อ กลุ่มที่เน้นวิพากษ์วิจารณ์การเมือง กลุ่มที่เน้นข้อมูลการจราจร กลุ่มเนื้อหาที่เน้นด้านธรรมะ และ กลุ่มที่เน้นการพูดคุยทั่วไป

view