สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แผนปรองดองในวงล้อมไฟแดง...ยากแต่ต้องเดิน

จาก โพสต์ทูเดย์

ระหว่างทางของการปรองดองต้องเจอกับแรงเสียดทานมากมาย โดยเฉพาะจากคู่ขัดแย้งของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในและนอกสภา

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ในที่สุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ โดยเชิญชวนประชาชน 63 ล้านคน “ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” โดยหัวใจของแผนปรองดองที่นายกฯ ตั้งใจ คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ทั้งนี้ อยู่บนสมมติฐานที่ว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดการเลือกตั้งน่าจะเกิดราวต้นปี 2554 ไม่ใช่วันที่ 14 พ.ย. ตามแผนปรองดองเดิมที่เคยประกาศเอาไว้เมื่อครั้งการยื่นข้อเสนอระหว่างการ ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

แผนปรองดองแห่งชาติของนายกฯ ยังหวังด้วยว่าจะใช้กระแสของสังคม คนชั้นกลาง ที่ขยาดกับการเมืองข้างถนนของคนเสื้อแดง มาเป็นโอกาสที่อภิสิทธิ์ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ประเทศเดินหน้า ก้าวข้ามวิกฤต เลิกความเคียดแค้น และร่วมกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย

แต่อีกด้านแผนปรองดองฉบับมาร์คถูกมองว่า เป็นการชิงจังหวะของรัฐบาลเพื่อเดินหน้าสู่ความได้เปรียบทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นแผนกี่ข้อหรือการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อปฏิรูปประเทศไทย หรือสะสางปมเหตุการณ์ชุมนุม ในทางปฏิบัติคงไม่ง่าย

เพราะระหว่างทางของการปรองดองต้องเจอกับแรงเสียดทานมากมาย โดยเฉพาะจากคู่ขัดแย้งของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในและนอกสภา

อุปสรรคในสภามาจากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหนึ่งในแผนปรองดองจะต้องมีการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ได้มีการแต่ง ตั้ง “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่มี “บรรหาร ศิลปอาชา” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นหัวหอก ได้ประกาศจุดยืนมาตลอดว่า ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และการแก้ระบบเลือกตั้ง สส.เป็นเขตเดียวคนเดียว

ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญนี่เอง เชื่อว่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งภายในรัฐบาล เพราะประชาธิปัตย์เองได้คัดค้านแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาล

หากผลสรุปของคณะกรรมการชุด “สมบัติ” ไม่สอดคล้องกับประเด็นที่พรรคร่วมต้องการแก้ไข ก็จะกลับมาเป็นความขัดแย้งอีกครั้ง

ประกอบกับสถานะของรัฐบาลที่อยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำ หากพรรคร่วมจะเล่นเกมต่อรองแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะยิ่งสร้างความลำบากต่อกระบวน การปรองดองเข้าไปอีก

สถานการณ์แบบนี้ “อภิสิทธิ์” เองจะตกอยู่ในสภาพเดินหน้าก็ไม่ได้ถอยหลังก็ไม่กล้า เพราะถ้าปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้ามามีอิทธิพลเรื่องปฏิรูปการเมืองผ่านการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมจะมีคำถามว่า ที่สุดแล้วการปฏิรูปการเมืองไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง เหมือนที่อภิสิทธิ์ถูกสังคมวิจารณ์หนัก ในการปรับคณะรัฐมนตรีโดยที่ไม่กล้าแตะต้องรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยแม้แต่ น้อย

ขณะที่ ปัจจัยจากนอกสภาก็เป็นขวากหนามสำคัญของการเดิน หน้าแผนปรองดองเหมือนกัน โดยเฉพาะท่าทีของพรรคเพื่อไทยได้แสดงออกแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับแผนปรองดองของ รัฐบาล ด้วยเหตุผลหลายประการตั้งแต่ การตั้ง “คณิต ณ นคร” เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์การชุมนุม ไปจนถึงการมองว่า แผนปรองดองเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลให้อยู่ในอำนาจนานที่สุด

“จุดยืนของพรรคไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปรองดองบนกองเลือดและซาก ศพประชาชน หรือการปรองดองแบบมัดมือชก เพราะแนวทางนี้จะเป็นชัยชนะในระยะสั้นของรัฐบาลเท่านั้น แต่จะเป็นความพ่ายแพ้ของประเทศในระยะยาวเหมือนกับสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ท่าทีของพรรคเพื่อไทยผ่านการแถลงของ พร้อม พงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค

จะว่าไปท่าทีต่อต้านแผนปรองดองของพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ เหนือความคาดหมาย ตรงกันข้ามเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องทำอยู่แล้วในฐานะเป็นคู่ขัดแย้งทาง การเมือง เพราะพรรคเพื่อไทยเองก็ประหวั่นว่าแผนปรองดองนี้จะเป็นตัวช่วยให้พรรคประชา ธิปัตย์ดูหล่อขึ้น และกลับมาชิงแต้มในการหาเสียงเลือกตั้งปีหน้า

ดังนั้น หากปล่อยให้ประชาธิปัตย์ลอยนวลเข้าสู่อำนาจเมื่อไหร่ จะส่งผลกระเทือนต่อการเติบโตของพรรคเพื่อไทยด้วย ดังสะท้อนมาจากความล้มเหลวในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้พรรคเพื่อไทยต้องระวังตัว
เพื่อไทยจึงเตรียมลาด ตระเวนตามพื้นที่สีแดงทั้งในภาคเหนือและอีสานเพื่อรักษาฐานเสียงของพรรคและ คงความขลังของทักษิณเอาไว้ เพื่อไม่ให้มวลชนถูกพรรคร่วมรัฐบาลชิงกลับ

ความเคลื่อนไหวของเพื่อไทยจึงไม่ต่างกับการส่งสัญญาณถึงคนเสื้อแดงให้ เตรียมพร้อมในการรบกับประชาธิปัตย์ เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบไปจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ โดยต้องการสร้างบรรยากาศให้คนเสื้อแดงปฏิเสธให้ความร่วมมือกับรัฐบาลตามแผน ปรองดองในทุกกรณี รวมทั้งแสดงอาการไม่ยอมรับผลการสอบสวนเหตุการณ์ชุมนุม

นี่จะกลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลในระยะยาว เพราะรัฐบาลเองแม้จะพยายามสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างไร แต่ประชาธิปัตย์ถือเป็น “คู่ขัดแย้งทางการเมือง” ที่ทักษิณและเพื่อไทยต้องการโค่นล้มให้ได้

ดังนั้น ต่อให้นายกฯ สามารถประคองสถานการณ์และบรรยากาศไปได้ตลอดรอดฝั่งจนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2554 เพื่อมอบของขวัญให้คนไทยได้ แต่ก็เชื่อว่า ความขัดแย้งที่บาดลึกยังดำรงอยู่ จน “อภิสิทธิ์” หรือลูกพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคเพื่อไทยใต้แบรนด์ทักษิณ คงไม่สามารถเดินสายหาเสียงทั่วประเทศได้อย่างราบรื่น

แผนปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปนั้นไม่ต่างอะไรกับ การเข็นครกขึ้นภูเขาที่ต้องเจอกับอุปสรรคมากมายรอบด้าน

view