สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส.นาย หน้าฯชงตีความ ก่อการร้าย หวั่นลูกค้าแห่ฟ้องศาล-ชี้บางเคสเคลมประกันได้

จากประชาชาติธุรกิจ

สมาคมนายหน้าประกันฯ ชง คปภ. ตีกรอบภัยก่อการร้ายให้ชัดเจน เชื่อหลายเหตุการณ์ไม่เข้าข่าย แค่จลาจล-วางเพลิง-กระทำจากเจตนาร้าย หลายกรมธรรม์คุ้มครองอยู่แล้ว แถมบริษัทประกันต้องจ่ายสินไหม ไม่ใช่แค่เงินช่วยเหลือ หวั่นลูกค้าฟ้องศาลอื้อซ่าซ้ำยืดเยื้อ ด้านแหล่งข่าว คปภ.เชื่อ ทบทวนกรอบตีความได้ แต่ไม่ครอบคลุมเหตุย้อนหลัง

นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้ส่งหนังสือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมให้กับผู้ เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจาก เหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกัน ภัย (คปภ.) เป็นผู้นำในการเสนอหลักการตีความเหตุการณ์ที่ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายได้รับ ความเสียหายว่าสถานการณ์ใดเข้าข่ายการก่อการร้ายหรือเป็นภัยอื่น ๆ

"ที่ ผ่านมารัฐบาลประกาศมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ระบุว่าทุกกรณี ถือเป็นภัยก่อการร้ายทั้งหมด ทำให้มีกรมธรรม์เพียง 21 ฉบับ จาก 751 ฉบับที่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากซื้อครอบคลุมภัยก่อการร้าย ดังนั้นต้องการให้ คปภ.สรุปกรอบการพิจารณาให้ชัดเจนว่าเหตุการณ์ใดเป็นก่อการร้าย หรือจลาจล หรือการกระทำอันมีเจตนาร้าย หรือเป็นการปล้นสะดม เพื่อประกอบการพิจารณาจ่ายสินไหมและทำให้ผู้เอาประกันได้รับความเป็นธรรม ด้วย ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินช่วยเหลือ"

สมาคมยังได้มีข้อเสนอเบื้องต้น เกี่ยวกับองค์ประกอบในการพิจารณาลักษณะของภัย ตามเงื่อนเวลา สถานที่ และรูปแบบของการก่อเหตุ มาเป็นแนวทางในการพิจารณา อาทิ กรณีการวางเพลิงหลังแกนนำมอบตัว หรือการวางเพลิงที่ผู้ก่อการไม่มีอาวุธ หรือการขโมยสินค้าในร้านสะดวกซื้อ หรือกรณีขโมยเงินจากตู้เอทีเอ็มแล้วเผาตู้ ไม่น่าจะเป็นภัยก่อการร้าย แต่เป็นลักษณะของกลุ่มคนที่คึกคะนอง สวมรอยปล้นสะดม ซึ่งความเสียหายเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองภายใต้ประกันความเสี่ยงภัยทุก ชนิด (IAR) ที่คุ้มครองภัยจลาจล การกระทำอันมีเจตนาร้าย และการกระทำอย่างป่าเถื่อน

นายเรืองวิทย์กล่าวว่า การกำหนดกรอบพิจารณาที่ชัดเจนจะช่วยแยกแยะเหตุการณ์ความเสียหาย และลดปัญหาการปฏิเสธการจ่ายสินไหมอย่างไม่เป็นธรรม มิฉะนั้นอาจมีผู้เอาประกันภัยบางส่วนที่เชื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ตัดสินใจนำเรื่องขึ้นสู่ศาล อันจะทำให้มีคดีความจำนวนมาก และหากการพิจารณาคดีล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อ ผู้เอาประกันภัย และบริษัทประกันภัยที่จะต้องสำรองค่าสินไหมส่วนนี้ไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

"แม้ ในทางปฏิบัติการรับประกันภัย ส่วนนี้จะส่งต่องานไปยังรีอินชัวเรอร์ในต่างประเทศ และต้องเรียกร้องสินไหมจากรีอินชัวเรอร์ด้วย แต่ถ้าเรามีหลักเกณฑ์การพิจารณาลักษณะของภัยที่เป็นมาตรฐานสากล น่าจะทำให้รีอินชัวเรอร์ยอมรับและจ่ายสินไหมได้เช่นกัน ซึ่งเวลานี้ ในฐานะลูกค้าที่ซื้อประกันผ่านนายหน้า ส่วนใหญ่นายหน้าจะแนะนำมิให้รีบตัดสินใจรับเงินช่วยเหลือจากบริษัทประกัน แต่จะให้รอการพิสูจน์เหตุของภัยเป็นที่ชัดเจนก่อน เพราะหลายกรณีที่ไม่ควรถือเป็นภัยก่อการร้าย" นายเรืองวิทย์กล่าว

แหล่ง ข่าวจากสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประกาศชัดเจนว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นถือ เป็นภัยก่อการร้าย หากจะมีการพิจารณาทบทวนกรอบการตีความลักษณะของภัยที่เข้าข่ายการก่อการร้าย กันใหม่ เพื่อเป็นข้อตกลงที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะไม่มีผลย้อนหลังถึงเหตุและสัญญาประกันภัยที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ จึงไม่น่าจะมีผลในการทำให้ผู้เอาประกันที่ได้รับผลกระทบกลับมาได้รับความ คุ้มครอง

"ด้วยมุมมองในการตีความของภัยที่แตกต่างกันอาจทำให้ผู้เอา ประกันบางรายรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีนี้ และอาจฟ้องศาล หากศาลตัดสินว่าไม่ถือเป็นภัยก่อการร้ายและควรได้รับความคุ้มครองตาม กรมธรรม์ ก็สามารถใช้เหตุผลนี้ชี้แจงต่อบริษัทประกันภัยและรีอินชัวเรอร์ให้จ่ายสิน ไหมได้ ซึ่งคงไม่ใช่อำนาจของ คปภ.ที่จะเป็นผู้พิจารณาหรือตัดสินชี้ขาดในการตีความได้โดยตรง แต่ต้องเป็นอำนาจของศาลมากกว่า" แหล่งข่าวกล่าว


วินาศกรรมทำเหตุลูกค้าประกันสนั่นเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์

21 มิถุนายน 2553 เวลา 07:08 น.

หลายเหตุการณ์ไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย แต่เข้าข่ายการปล้นสะดม ความคึกคะนองของคนไม่กี่คน การฉวยโอกาส จะเข้าข่ายเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ต้องได้รับการชดใช้

โดย...ทีมข่าวการเงิน

6เดือนแรกของปีนี้กำลังจะผ่านไป แต่ในวงการประกันภัยหลายกรณียังไม่ อาจสรุปความเสียหายได้เสร็จสิ้น

โดยปีนี้ถือเป็นปีที่มีเหตุการณ์ “เพลิงไหม้” ที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่มาตั้งแต่ต้นปี

ตามมาด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีการเผา ย่านเศรษฐกิจใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ค. นำมาซึ่งความเสียหายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปความเสียหายและชดเชยค่าสินไหมทดแทน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าเหตุการณ์ชุลมุนและเผาเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงถือเป็นภัยก่อการร้าย

หากธุรกิจใดไม่ได้ซื้อไว้จะไม่ได้รับความคุ้มครอง!!!

เมื่อตรวจสอบเหตุการณ์ความเสียหายจากการชุมนุม พบว่ามีเพียงห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมดุสิตธานี ธนาคารกรุงเทพ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งตกเป็นเหยื่อในการเผาเมืองครั้งนี้เท่านั้นที่มีการทำประกันภัยก่อการ ร้ายไว้

โดยห้างเซ็นทรัลเวิลด์ที่ได้รับความเสียหาย 100% ซื้อความคุ้มครองความเสียหายด้านทรัพย์สิน 3,500 ล้านบาท กับบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย และประกันธุรกิจหยุดชะงัก 6,147 ล้านบาท กับบริษัท เทเวศประกันภัย

ส่วนธนาคารกรุงเทพ ทางบริษัท กรุงเทพประกันภัย เปิดเผยว่า มีความเสียหายประมาณ 60 ล้านบาท

ธนาคารนครหลวงไทยเสียหาย 3 สาขา ธนาคารกสิกรไทยเสียหาย 1 สาขา

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ทำประกันภัยวงเงิน 1,400 ล้านบาท ไว้กับบริษัท นวกิจประกันภัยและธนชาตประกันภัย แต่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการยิงอาวุธสงครามถูกตัวอาคารด้านห้องพักและ บริเวณนอกอาคารชั้นล่าง รวมทั้งอาคารพาณิชย์ แต่ไม่มีเพลิงไหม้

สิ่งที่เป็นกระแสตามมาคือ ความตื่นตัวของกลุ่มธุรกิจ อาคารสำนักงาน โรงแรม โรงงาน โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า โกดังสินค้า โรงพยาบาล ธนาคาร โชว์รูม คลินิก และร้านค้า ที่หันมาทำประกันภัยกันมากขึ้น หลังจากเห็นความเสียหายที่ไม่อาจวางใจได้ เหมือนการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ล่าสุดกรณีบริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง ซึ่งมีกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เตรียมซื้อประกันภัยก่อการร้ายและประกันจลาจล ให้บริษัทในกลุ่มทั้งหมดที่อยู่ในประเทศและอีก 16 ประเทศทั่วโลก หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสี่ยง

หรืออย่างกรณีของร้านค้าย่านสยามสแควร์และแยกราชประสงค์หลายแห่ง เริ่มสนใจที่จะทำประกันภัยจลาจลและก่อการร้ายพ่วงเข้ามาด้วย จากเดิมที่มีเพียงประกันอัคคีภัยอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ทาง คปภ. และบริษัทประกันวินาศภัย ยืนยันว่าจะไม่ทำให้ราคาเบี้ยประกันอัคคีภัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น หากจะมีการปรับขึ้นก็อยู่ในช่วงที่ คปภ. กำหนดไว้ ซึ่งอยู่ระหว่าง 0.1-5% ของทุนประกันภัย ประชาชนสบายใจได้อีกด้านหนึ่ง ในขณะนี้อาคารหลายแห่งทำประกันภัยไว้ แต่ไม่ได้ระบุประเภทการก่อการร้ายหรือจลาจล เป็นช่องให้บริษัทประกันเลี่ยงการชดใช้ค่าเสียหาย จนสร้างความกังวลให้แก่ธุรกิจ

แหล่งข่าวจากสมาคมนายหน้าประกันภัย ระบุว่า ลูกค้าตัวเองส่วนใหญ่มีประกัน ความเสี่ยงภัยทุกชนิด หรือ IAR แต่ไม่มีประกันภัยก่อการร้าย ทำให้บริษัทประกันปฏิเสธที่จะจ่ายสินไหม เนื่องจากรัฐบาลประกาศว่าเหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้มีผู้ก่อการร้ายแฝงอยู่

อย่างไรก็ดี สมาคมนายหน้าประกันภัยมั่นใจว่าความเสียหายรวม 751 กรมธรรม์ ไม่เข้าข่ายภัยก่อการร้ายทั้งหมด เพราะถ้าซื้อประกันผ่านนายหน้าประกันภัยจะได้รับการเสนอกรมธรรม์ที่ครอบคลุม ความเสี่ยงภัยทุกชนิด ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองกรณีไฟไหม้ การโจรกรรม การปล้นสะดม ความเสียหายที่เกิดจากเจตนาร้าย การนัดหยุดงาน การจลาจล เช่น ตู้เอทีเอ็มถูกทำลายและขโมยเงินไป โดยคนเพียง 2 คน ในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตราชประสงค์ หรือไฟไหม้โดยที่ไม่ได้มีหลักฐานว่ามีผู้ก่อการร้ายเป็นผู้กระทำ

แม้ก่อนหน้านี้บริษัทประกันตกลงจะช่วยเหลือลูกค้าในย่านใจกลางเมือง ด้วยการจ่าย สินไหมการุณ ในอัตราไม่เกิน 10% ของทุนประกัน แต่สมาคมนายหน้าประกันภัยเห็นว่าลูกค้าที่เสียหายยังไม่ควรรับเงินก้อนนี้

“หลายเหตุการณ์ไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย แต่เข้าข่ายการปล้นสะดม ความคึกคะนองของคนไม่กี่คน การฉวยโอกาส จะเข้าข่ายเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ต้องได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงิน แทนที่จะรับแค่ 3 หมื่นบาท หรือ 5 หมื่นบาท มั่นใจว่าหากมีการนำคดีขึ้นศาลและพิสูจน์ตามหลักประกันภัยสากล ลูกค้ามีโอกาสสูงในการชนะคดี”

แหล่งข่าวระบุว่า แม้รัฐบาลจะประกาศว่ามีการก่อการร้ายจริง แต่ไม่ได้บอกว่าทุกความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการก่อการร้าย ดังนั้นการที่ คปภ. เหมารวมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากการก่อการร้ายนั้นไม่ถูก ต้อง จะทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับความเป็นธรรม และยังจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่น่าเชื่อถือกับธุรกิจประกันภัยไทย ซึ่งเงินช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยไม่ได้เป็นประเด็นสำหรับบริษัทประกันภัย

ขณะนี้รัฐบาลกำลังส่งคดีไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อ ตีความว่าเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ ฉะนั้นยังต้องรอให้ดีเอสไอสรุปออกมาก่อน

ไม่เฉพาะนายหน้าประกันภัยเท่านั้นที่มองประเด็นนี้ บริษัทประกันวินาศภัยก็ได้ให้ความสำคัญกับเกณฑ์ประกันภัยสากลเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ชมรมสินไหมในชุดของคณะอนุกรรมการทรัพย์สินกำลังนำหลักการสากลมา ใช้ในการพิจารณาเรื่องเวลาที่ลูกค้าได้รับความเสียหาย สถานที่ของทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ รูปแบบของภัยที่เกิดขึ้น เพราะหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังมีการประกาศยุติการชุมนุม และรัฐบาลประกาศว่ายึดคืนพื้นที่ได้แล้ว

โดยหากลูกค้าที่ซื้อประกันภัย IAR ไว้ หากพิสูจน์ออกมาแล้วว่า ไม่ใช่เกิดจากภัยก่อการร้ายจะได้รับเงินชดเชยเต็มที่ เช่น ซื้อความ คุ้มครองไว้ 20 ล้านบาท ก็จะได้รับชดเชย 20 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ 5 หมื่นบาท หรือ 3 หมื่นบาท

อีกทั้งบริษัทประกันวินาศภัยจะได้รับความน่าเชื่อถือในแง่ความเป็นมือ อาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะถ้าปฏิบัติถูกต้องตามเกณฑ์สากลสามารถที่จะไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จากบริษัทประกันภัยต่างประเทศได้ 100%

แต่ข้อเสียคือ จะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ถ้าเฉพาะลูกค้าที่ซื้อประกันอัคคีภัยสามารถจ่ายสินไหมการุณได้ทันที เพราะความคุ้มครองไม่ซับซ้อน

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ผลจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ทั้งจากภาวะปกติและความไม่สงบทางการเมือง ยังไม่ทำให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ประกอบการหันมาซื้อประกันอัคคีภัยและประกัน ภัยก่อการร้ายเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขอย่างชัดเจน แต่จะทำให้เกิดการตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมากกว่า

“ประชาชนยังขาดความเข้าใจในประโยชน์ของประกันภัย และมองว่าเป็น ภาระในการจ่ายเบี้ยประกันภัย ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้เกิด บ่อย และไม่ได้กระจายไปทั่วพื้นที่ของประเทศไทย” แหล่งข่าวระบุ

จะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะหันมาซื้อประกันที่คุ้มครองความเสี่ยง ครอบคลุมทุกชนิด ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยก่อการร้ายจะค่อยๆ ปรับลดลง เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นและความสงบเริ่มเข้ามาแทนที่

view