จาก โพสต์ทูเดย์
ประชาธิปไตยมีมากมายหลายแบบ แต่ทุกแบบก็มาบรรจบที่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ “เพื่อประชาชน”
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
เมื่อตอนที่แล้วได้อธิบายว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง และประชาธิปไตยมีมากมายหลายแบบ แต่ทุกแบบ (แม้กระทั่งแบบที่ไม่ต้องเลือกตั้ง) ก็มาบรรจบที่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ “เพื่อประชาชน”
ทั้งนี้ ในตอนท้ายผู้เขียนได้ยกอมตะวาจาของ อับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน” ก็เพื่อจะบอกว่า “โดยประชาชน” ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการเลือกตั้ง หรือถ้าจะมาจากการเลือกตั้งก็อาจจะมีรูปแบบเฉพาะ อย่างในสหรัฐก็มีระบบ Assembly, Primary และ Electoral Vote อย่างนี้เป็นต้น และไม่ว่าในรูปแบบใดตราบเท่าที่ประชาชนยังควบคุมตรวจสอบได้ ก็จะตรงกับคำว่า “ของประชาชน” นั่นเอง
ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีท่านอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน และมีผู้เขียนเป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีกรรมการหลายท่านให้ความเห็นในเรื่องโครงสร้างใหม่ของการเมืองไทย แต่ที่ผู้เขียนสนใจและอยากนำมาขยายให้ท่านผู้อ่านได้ช่วยกัน “ร่วมพัฒนา” มีอยู่ 2 แนวคิด หนึ่ง ก็คือ ประชาธิปไตยเชิงสมานฉันท์ กับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ขอเปิดสนทนาธรรมในเรื่องแรกก่อน เพราะหลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าประชาธิปไตยเชิงสมานฉันท์มีอยู่ด้วยหรือ เพราะเคยได้ยินแต่ประชาธิปไตยโดยตรงกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน อย่างที่ถูก “คนเสียงดัง” ทั้งหลายตะโกนปาวๆ อยู่นี่แหละ
ถ้าย้อนไปอ่านบทความนี้ในสัปดาห์ที่แล้ว ก็จะเห็นว่าประชาธิปไตยทั้งหลายล้วนแต่ต้องการ “ความสมานฉันท์” เป็นเบื้องต้น แม้แต่การปกครองอินเดียยุคโบราณที่พระพุทธเจ้านำมาเป็นต้นแบบในการปกครอง สงฆ์ ก็จะเน้นให้เกิดความสงบสุขในหมู่คณะ ระงับความขัดแย้ง และถ้าเป็นไปได้ก็ให้ความเห็นและข้อตกลงทุกอย่างเป็น “เอกฉันท์”
ทำนองคล้ายๆ กันในแนวคิดของกรีซและโรมันในยุคแรกๆ ก็พยายามที่จะหากระบวนการในการสร้างความปรองดองเป็นเบื้องต้น เช่น การแสวงหารูปแบบและลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับ ร่วมกับการนำเสนอตัวแทนที่จะมาทำงานในรัฐสภา รวมทั้งการถ่วงดุลคะคานอำนาจระหว่างผู้นำในกลุ่มต่างๆ
เช่นเดียวกันกับความคิดของนักคิดแนวสัญญาประชาคมอย่าง จอห์น ล็อก และ
ฌองฌัก รุสโซ ที่พยายามขายความคิดที่ว่า ผู้ปกครองที่ดีที่สุดคือผู้ปกครองที่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับราษฎร ซึ่งถ้าหากไม่ทำก็จะต้องถูกถอดถอนหรือพ้นหน้าที่ไป และในแนวคิดนี้ประชาชนต้องสามารถควบคุมตรวจสอบผู้ปกครองได้โดยตลอด อันเป็น|ที่มาของระบบการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองการปกครองที่เรียกว่า Mandatory System คือคนที่จะไปปกครองประชาชนจะต้องได้รับ “อาณัติ” คือการมอบหมายบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบไปจากประชาชนเสียก่อน ด้วยความคิดนี้จึงพัฒนามาสู่ระบบ “เลือกตั้ง” ในแนวคิดประชาธิปไตยในยุคที่ผ่านมานั่นเอง
Mandatory System ที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็คล้ายๆ กันกับระบบการคัดเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่ปะทะกับกษัตริย์ ซึ่งก็คือผู้แทนราษฎรในยุคแรกๆ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 ของอังกฤษ แต่ของอังกฤษเรียกว่า Champion ที่ถ้าใครชอบดูหนังอังกฤษโบราณๆ เช่น เรื่องโรบินฮู้ด ที่นำมาฉายเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จะมีประวัติศาสตร์เรื่องระบบรัฐสภาอังกฤษในแบบนี้อยู่ด้วย
ผู้ที่อธิบายระบบแชมเปียนนี้ได้อย่างชัดเจนก็คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “ฝรั่งศักดินา” (ที่จริงเป็นการรวบรวมบทความในซีรีส์นี้จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2500 กว่าๆ มาจัดพิมพ์เป็นเล่ม) ซึ่งนักศึกษาปี 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราวปี พ.ศ. 2510-2516 ในวิชาพื้นฐานอารยธรรมตะวันตก จะต้องใช้เป็นหนังสือ “บังคับ” อ่านประกอบ
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ กล่าวว่า คนอังกฤษโบราณก็คล้ายๆ กับคนไทยในสมัยนี้ (คือสมัยที่ท่านเขียนบทความชุดนี้ แต่เราก็จะเห็นว่าคนไทยในนาทีนี้ก็ยังไม่พัฒนาไปไกลนัก) ที่ไม่อยากตอแยหรือสู้รบปรบมือกับใคร ดังนั้นเมื่อเวลาที่คนทั้งหลายมีปัญหาก็จะมองหา “ตัวช่วย” ซึ่งก็คือคนที่จะอาสาเข้ามาทำหน้าที่แทน หรือที่เรียกว่า “แชมเปียน” นี้ ไปสู้รบปรบมือให้ (อย่างในหนังเรื่องโรบินฮู้ด ก็อาสาไปช่วยชาวบ้านสู้กับนายอำเภอนอตติงแฮมที่รีดนาทาเร้น) หรือแม้แต่เวลาที่เป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล ที่อังกฤษโบราณยังมีการตัดสินกันด้วยการพิสูจน์ต่างๆ ที่รุนแรงถึงขั้นให้ต่อสู้กันด้วยอาวุธจริงๆ ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ก็ต้องไปหา “แชมเปียน” มาต่อสู้แทน
ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ระบบรัฐสภาอังกฤษโบราณเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านไม่ไว้วางใจกษัตริย์ รวมทั้งอัศวินที่เป็นขุนนางร่วมปกครองกับกษัตริย์ แต่ต่อมากษัตริย์ก็เอาเปรียบขุนนางด้วยการรีดเอาประโยชน์ตอบแทนทั้งส่วยและ ภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดกรณีขุนนางร่วมกันบังคับให้กษัตริย์ในครั้งนั้น คือ พระเจ้าจอห์น ต้องลงนามในเอกสาร “ลดพระราชอำนาจ” ที่โด่งดังในชื่อว่า Magna Crater จากนั้นทุกครั้งที่กษัตริย์ประสงค์จะทำการใดๆ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากขุนนางเหล่านี้เสียก่อน รัฐสภาในยุคนั้นจึงมีแต่ขุนนางที่เรียกว่า House of Lord
House of Common หรือผู้แทนราษฎรของอังกฤษก็เกิดตามมาภายหลัง เพราะชาวบ้านจริงๆ อยากจะให้มีแชมเปียนที่ไปจากคนระดับเดียวกันกับพวกเขาจริงๆ แรกๆ ก็เป็นการอาสาเข้าไป โดยชาวบ้านก็เพียงแต่ต้องดูให้ดี “มีหน้ามีตา” ไม่ไปทำอะไรที่ขายหน้า แต่ต่อๆ มาอาจจะมีผู้อาสาเป็นแชมเปียนในสภานี้เป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการโหวตเลือก ซึ่งแรกๆ ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะ “กลุ่มสนใจ” ต่อมาจึงค่อยๆ ขยายสิทธินั้นไปสู่ชาวบ้านอื่นๆ ในวงที่กว้างมากขึ้น ระหว่างนั้นก็มีการเรียกร้องของคนกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้หญิงที่เพิ่งจะมามีสิทธิเลือกตั้งในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี่เอง
อนึ่ง ระบบเลือกตั้งแบบ “หนึ่งเขตหนึ่งคน” ที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ ก็สะท้อนอย่างเด่นชัดว่าผู้แทนแบบอังกฤษต้อง “ใจถึงพึ่งได้” เพราะจะต้องไปทำงานตามที่ตนได้อาสาไว้ จึงต้องมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านเป็นพิเศษ แต่คนในยุคหลังมาตีความหมายว่าแบบนี้แหละที่เป็นประชาธิปไตย “เป็นที่สุด” เพราะทุกคนเสมอภาคกันภายใต้แนวคิด “หนึ่งคนหนึ่งเสียง”
บทความนี้คงจะต้องอธิบายเพิ่มเติมถึงประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ในสัปดาห์ ต่อไป ที่ยังมีเรื่องที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยเราจะปกครองในแบบนี้ได้หรือไม่ ขอท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งเบื่อ “วิทยานิพนธ์ข้างถนน” ฉบับนี้ แต่อยากให้ทุกท่านมาช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อ “ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”
ช่วยกันคิดช่วยกันทำในชาตินี้ เราก็จะได้ผลเห็นกันในชาตินี้ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้าหรอกโยม!