จากประชาชาติธุรกิจ
วรวุฒิ อุ่นใจ, ภาวุธ พงษ์วิทยภานุสมาคม อีคอมเมิร์ซนัดหารือ "กรมสรรพากร" ขอเคลียร์เรื่องการจัดเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หวั่นมาตรการไล่ล่าของสรรพากรจะกระทบอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ เตรียมเสนอแนวคิด "แวตออนไลน์" ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราพิเศษเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ ยอมรับปัจจุบัน "อีคอมเมิร์ซ" เป็นช่องทางการทำธุรกิจหลบเลี่ยงภาษี
จาก ที่กรมสรรพากรออกมาสะท้อนแนวนโยบายการขยายฐานภาษี โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยล่าสุด นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมขยายฐานภาษีไปยังผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อแจ้งรายได้เสียภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นสาขาที่เริ่มได้รับความนิยม เพราะมีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งได้เตรียมให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีการค้าขายสินค้า เพื่อสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวต่อไป
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อี-คอมเมิร์ช) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางสมาคมได้ประสานงานกับกรมสรรพากร เพื่อเข้าหารือและทำความใจเกี่ยวกับนโยบายการจัดเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ ซของกรมสรรพากร เพราะเกรงว่าข้อมูลที่ออกมาไม่ชัดเจน จะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตระหนก ซึ่งเท่าที่ได้รับแจ้งในเบื้องต้น ทางกรมสรรพากรยืนยันว่าไม่ได้เป็นการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เป็นนโยบายการขยายฐานภาษี เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซเข้าสู่ระบบในการจัดเก็บภาษี มูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
แนวคิดดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก และไม่ได้เข้าสู่ระบบฐานภาษีของกรมสรรพากร อย่างไรก็ตาม จากที่สมาคมได้นัดหารือกับกรมสรรพากร ก็เพื่อจะทำความเข้าใจและหาแนวทางความร่วมมือร่วมกัน
"เนื่องจากไม่ ต้องการให้สรรพากรใช้มาตรการรุนแรง หรือในลักษณะจับปรับ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ อาจทำให้ไม่กล้าเข้ามาซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ นอกจากนี้ อยากให้กรมสรรพากรพิจารณาด้วยว่า การจัดเก็บภาษีจะไม่ทำให้ผู้ประกอบการเสียเปรียบการแข่งขันกับ ต่างชาติ เพราะเท่าที่ทราบอย่างสหรัฐ อเมริกา การซื้อขายสินค้าออนไลน์ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งก็อยากให้กรมสรรพากรพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นการไล่ให้ผู้ประกอบการหนีไปทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการต่างประเทศ ก็จะทำให้เงินไหลออกต่างประเทศ" นายภาวุธกล่าวและว่า
ในแง่ของสมาคม ก็ต้องสนับสนุนให้ ผู้ประกอบการกระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และกลุ่มที่พยายามจะหลบเลี่ยง ดังนั้น ทางสมาคมจึงมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับกรมสรรพากรในการจัดเวทีทำความเข้าใจกับ ผู้ประกอบการ รวมทั้ง หามาตรการหรือแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
ด้านนาย วรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด อีกหนึ่งอุปนายกสมาคมอี-คอมเมิร์ซ กล่าวว่า นโยบายของสรรพากร เป็นเรื่องที่ดี ปัจจุบัน บริษัทที่เสียภาษีถูกต้อง ก็เสียเปรียบผู้ให้บริการที่หลบเลี่ยงภาษี โดยบริษัทจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพาณิชย์มีอยู่แค่หลักพัน ราย แต่ในความเป็นจริง มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในตลาดเป็นแสนราย หมายความว่าส่วนใหญ่หลบเลี่ยงภาษีทั้งสิ้น
ในข้อเท็จจริง กฎหมายมีอยู่แล้ว แต่มีปัญหาในการปฏิบัติตามกฎหมาย เพียงแต่ว่า กรมสรรพากรจะต้องมีมาตรการที่จูงใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงภาษีมากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็น รายย่อยทั้งสิ้น มีรายใหญ่อยู่ไม่กี่ราย เพราะการเข้าสู่ระบบ ต้องยื่นบัญชีตามระเบียบของกรมสรรพากร ซึ่งมีกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีเพิ่มขึ้นอีก
นาย วรวุฒิกล่าวว่า ในส่วนของสมาคมมีแนวคิดที่จะเสนอให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราพิเศษ เป็นแวตออนไลน์ เสียต่ำกว่า 7% เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ เพื่อให้กรมสรรพากรได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะนอกจากภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กรมสรรพากรยังจะได้ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ทุกคนก็จะไม่ยอมเข้าสู่ระบบ
ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น กรมสรรพากรควรใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมการทำอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้ผู้ประกอบการแสดงตัวตน เข้าสู่ระบบ และตรวจสอบได้ เพื่อที่จะสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
"เพราะถ้ามาไล่ต้อน จัดเก็บภาษี คนหลบได้ก็หลบกันทั่วประเทศ เพราะเว็บไซต์ขายสินค้าส่วนใหญ่เป็นในนามบุคคล ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท ถ้ามีการผลักดันให้เข้าระบบ โดยจัดเก็บภาษีในอัตราที่ถูกกว่า ก็จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ" นายวรวุฒิกล่าวและว่า
เพราะ อย่างในอเมริกา การซื้อขายสินค้าออนไลน์จะไม่มีการเก็บภาษีแวต ซึ่งก็ทำให้ประชาชนและองค์กรทั้งหลายหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในภาพรวม ก็จะดีทั้งในแง่การประหยัดพลังงาน ประหยัดต้นทุนในการเดินทางขนส่ง
กรณีดังกล่าว อาจไม่ใช่เรื่องที่กรมสรรพากรจะจัดการได้เองทั้งหมด รัฐบาลอาจต้องเป็นเจ้าภาพ กระทรวงการคลังต้องร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นผู้ลงทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ดูแลในเรื่องของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย