จาก โพสต์ทูเดย์
ญี่ปุ่นกำลังพยายามเดินหน้ามาตรการปฏิรูปภาษี โดยจะปรับภาษีการค้า ซึ่งรวมถึงอัตราภาษีผู้บริโภค เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า คือจาก เดิม 5% ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 10%
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ
รัฐบาลยืนยันว่า การปรับภาษีเป็นเรื่องที่จำเป็น ในขณะที่รัฐบาลกำลังต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมหาศาล
ปัจจุบัน นับจนถึงเดือน มี.ค. 2553 ญี่ปุ่นมีตัวเลขหนี้สาธารณะสูงถึง 862 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็น 181% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และมีแนวโน้มว่าหนี้จะสูงขึ้นไปถึง 197% ในปีนี้ และอาจจะถึง 204% ในปี 2554
ทำให้ญี่ปุ่นได้ตำแหน่งประเทศที่ต้องแบกรับภาระหนี้มากที่สุดในโลกแล้ว
การขึ้นภาษีดังกล่าว แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบชาวญี่ปุ่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และนั่นก็สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่ง
ผลกระทบที่ชัดเจนปรากฏขึ้นจากตัวเลขคะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ที่กำลังดิ่งลงทุกเมื่อเชื่อวัน เนื่องจากท่าทีความไม่พอใจต่อมาตรการดังกล่าว และเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบไปอยู่ในมือประชาชน
ล่าสุดพรรครัฐบาลสูญเสียที่นั่งในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกมากมาย
ญี่ปุ่นเริ่มนำมาตรการภาษีผู้บริโภคมาใช้ด้วยอัตรา 3% เมื่อปี 1989 และอัตราดังกล่าวถูกปรับขึ้นมาอยู่ที่ 5% เมื่อปี 1997 และตั้งแต่นั้นก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าอาจหาญแตะต้องเรื่องดังกล่าวอีกเลย เพราะรู้ทั้งรู้ว่านั่นอาจหมายถึง อนาคตทางการเมืองต้องดับมืด
แต่ดูเหมือนว่า ถึงเวลานี้รัฐบาลมืดแปดด้าน เผชิญกับทางตันทางเศรษฐกิจ และภาระที่เกินกว่าที่แบกรับไว้แล้ว ทำให้นโยบายการปฏิรูปภาษีต้องผุดขึ้นมา ด้วยความหวังว่านั่นคือ แสงสว่างที่จะนำไปสู่การปลดล็อกความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารู้อยู่แก่ใจว่าคะแนนเสียงและความนิยมอาจจะต้องตกลงก็ตาม แต่ก็ต้องตัดสินใจยอมจำนน
ญี่ปุ่นกำลังถูกรายล้อมด้วยปัญหา ตัวเลขหนี้ที่ท่วมท้นเป็นเรื่องหนึ่ง รายได้จากภาษีนิติบุคคล ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐที่ลดลงก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง “ภาวะติดหล่ม” ไม่กระเตื้องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อีกทั้งความรับผิดชอบอันหนักหน่วงกับสังคมผู้สูงอายุก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง
รัฐบาลแดนปลาดิบต้องรับภาระในการหมุนเงินมาใช้ง่ายในระบบประกันสังคมใน แต่ละปีราว 27.3 ล้านล้านเยน หรือราว 30% ของเงินในบัญชีงบประมาณรายจ่ายของประเทศ
รายได้จากการจัดเก็บภาษีผู้บริโภคในแต่ละปีถูกนำมาใช้ เพื่อในการบริการสุขภาพ โครงการเงินบำนาญ และการบริการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งก็มีตัวเลขรายได้อยู่ที่เพียง 6.8 ล้านล้านเยน เท่านั้น
ผลลัพธ์ก็คือ รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากภาษีผู้บริโภค และในระบบประกันสังคมยังคงไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดึงเอาเงินจากพันธบัตรมาโปะในส่วนที่ยังคงขาดหาย ไป
ความคิดของนายกรัฐมนตรีคังก็คือ ต้องการที่จะเพิ่มรายได้ด้วยการเก็บภาษีผู้บริโภคให้สูงขึ้น
ผลประโยชน์ต่อประเทศคือ เงินที่เพิ่มขึ้นจะช่วยทดจำนวนเงินที่ยังคงขาด หนำซ้ำยังจะช่วยให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินมาใช้หมุนเวียนและใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ลดการสร้างหนี้ที่มีอยู่แล้วอย่างมหาศาล ไม่ให้เป็น “ยาพิษ” บั่นทอนสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นไปอีก
ในทางกลับกัน การเพิ่มอัตราภาษีผู้บริโภคจะสามารถสร้างรายได้ และมีผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคยอมควักกระเป๋าเอาเงินออกมาใช้จ่าย แทนที่จะเก็บออมไว้ จนญี่ปุ่นได้ครองแชมป์ประเทศที่มีนิสัยรักการออมมากที่สุดในโลก
กระทั่งไอเอ็มเอฟออกมาหนุนมาตรการดังกล่าว และกระตุ้นให้ญี่ปุ่นเดินหน้าในเรื่องนี้โดยเร็ว
รัฐบาลจะกระตุ้นให้คนออกมาใช้จ่ายได้อย่างไร ในเมื่อเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่โต
2 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขอัตรายอดการใช้จ่ายในครัวเรือนลดลงติดต่อกัน
มีเพียงตัวเลขความมั่นใจของผู้บริโภคเท่านั้นที่กระเตื้องขึ้น พร้อมกับอัตราการออมของชาวญี่ปุ่นกำลังลดลงจากที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 10% เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว แต่ในเวลาอยู่ที่เพียง 3% เท่านั้น นั่นเป็นเพราะผลพวงที่ได้มาจากสังคมสูงอายุนั่นเอง
ตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นความหวังเล็กๆ หนึ่งเดียวของรัฐบาลญี่ปุ่นที่คิดว่า คนหันมาจับจ่ายมากขึ้น แทนการเก็บออม การขึ้นภาษีจึงอาจจะเป็นผลดี
แต่อุปสรรคที่ญี่ปุ่นต้องฝ่าฟันมีแบบไม่จบไม่สิ้น นั่นเพราะความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องนโยบายดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งที่ผ่านมา พรรครัฐบาลไม่สามารถครองคะแนนเสียงส่วนมากในสภาสูง
ความหวังจะกอบกู้ประเทศ กู้ภาพลักษณ์ของพรรครัฐบาลก็อาจจะเป็นอันต้องดับวูบลงไป เพราะนโยบายดังกล่าวอาจจะไม่สามารถฝ่าด่านทางการเมืองไปได้สำเร็จ
นั่นยังไม่รวมถึงความขัดแย้งภายในพรรคที่ร้อนระอุระส่ำว่า อาจจะมีการลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในเดือน ก.ย.นี้
วิกฤตนี้จึงดูเหมือนว่า “มาตรการปฏิรูปภาษี” ยาแรงที่รัฐบาลควักออกมาใช้ เพื่อเป็นทางออกของวิกฤตการเงินของประเทศจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจจะพ่ายต่อพลังอำนาจทางการเมือง
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงอยู่บนทางแพร่งที่จะต้องเลือกระหว่างการเสียสละตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ หรือเอาชีวิตรอดในเวทีการเมือง ด้วยการพักนโยบายภาษีขึ้นหิ้งไปเสียก่อน