สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม : ภาษีการเมือง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : จับกระแส :ประนอม บุญล้ำ pranom_b@nationgroup.com



จู่ๆ เมื่อต้นสัปดาห์ก็เกิดกระแสเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวต ขึ้นอีก 1% หรือจากปัจจุบันเก็บอยู่ 7% เป็น 8% นั่นคือ
แนวคิดของกระทรวงการคลัง ที่มองว่าปัจจุบันรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายประชานิยม หรือที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เรียกว่า "รัฐสวัสดิการ" นั้น สร้างภาระแก่งบประมาณประเทศมากแค่ไหน

ที่สำคัญกระทรวงการคลัง ซึ่งดูแลฐานะการเงินของประเทศ ต้องเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากรายจ่ายที่ภาคการเมือง สร้างไว้ล่วงหน้า ก่อนที่ประเทศไทยจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว นั่นคือต้องหาทางเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงบ้าง เพราะหากขึ้นภาษีแวต 1% จะเพิ่มรายได้ถึง 5 หมื่นล้านบาท  และเห็นว่าห้วงเวลาที่เหมาะเจาะสำหรับการขึ้นภาษีนั่นคือช่วงเวลาที่ เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา ก็มีอันต้องเป็นหมันไปโดยปริยาย เพราะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาเบรกหัวทิ่มหัวตำ ว่า รัฐบาลไม่มีแผนจะขึ้นภาษีแวตอีก 1% ในช่วงนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากอยู่ในช่วงประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว  แถมบอกอีกว่า ไม่ได้คิดจะนำเรื่องการปรับภาษีมาเป็นตัวตั้ง แต่ต้องการใช้โครงสร้างเอื้อให้เศรษฐกิจไทยแข่งขันได้ และมีบริการพื้นฐาน

เรื่องนี้หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 สมัย รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ สั่งให้กรมสรรพากรศึกษาแนวทางการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในประเทศไทย  เบื้องต้นกรมสรรพากรกำหนดอัตราไว้ที่ 10% เหมือนที่หลายๆ ประเทศที่ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มก็เก็บในอัตรานี้เช่นกัน แต่เมื่อจะนำมาใช้จริง ปรากฏว่ารัฐบาลพลเอกชาติชาย ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ภายใต้การนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจไปซะก่อน

ต่อมาคณะ รสช. ตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารในช่วงที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลนายอานันท์ช่วงนั้น มี ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำ พ.ร.บ.ภาษีมูลค่าเพิ่ม เสนอ ครม.ชุดนั้นพิจารณา และมีการถกเถียงถึงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มว่า 10% สูงเกินไปหรือไม่ อย่างไรก็ตามในที่สุดรัฐบาลอานันท์ ก็ใช้วิธีกำหนดไว้เป็นเพดานอัตราภาษีไว้ที่ 10% แต่ในทางปฏิบัติเก็บเพียง 7% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2535

เหตุผลที่รัฐบาลอานันท์ กำหนดเพดานอัตราภาษีไว้ 10% และเก็บจริงเพียง 7%  เพราะเห็นว่าเป็นช่วงเริ่มต้นใช้ภาษีแวต และตั้งใจจะเก็บอัตรา 7% แค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เริ่มใช้ภาษีแวตเมื่อปี 2535 มาถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีแวตได้ และทุกครั้งที่รัฐบาลชุดใดจะเสนอปรับขึ้นภาษีแวต แม้ในยามประเทศมีปัญหาวิกฤติ ฐานะการคลังย่ำแย่ ก็ยังไม่สามารถขยับภาษีแวตได้เลยสักครั้งเดียว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเองก็ศึกษาและมีแผนที่จะปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนรายจ่ายประเทศที่เพิ่มจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา แต่ผลศึกษาโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังก็ถูกดองเก็บไว้ ไม่มีโอกาสนำออกมาใช้ได้สักครั้งเดียว แม้ว่าจะมีภาษีบางตัวออกมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ภาษีสำคัญๆ

นั่นเพราะ ภาษีมูลค่าเพิ่มน่ะถูกผูกเข้าไว้กับการเมือง ทุกรัฐบาลไม่ต้องการแตะต้องภาษีนี้ เพราะมันไม่เข้าใครออกใคร ขืนไปยุ่งด้วย คะแนนเสียงเสียไปได้ง่ายๆ  สู้อยู่เฉยๆ ซะดีกว่า... 

Tags : ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการเมือง

view