สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัฒนธรรมและมารยาทการใช้ตะเกียบ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : วลัญช์ สุภากร walan@nationgroup.com


ตะเกียบก็เข้ามา มีส่วนสำคัญบนโต๊ะอาหารไทยตั้งแต่เมื่อไร วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบน่าสนใจอย่างไร ติดตามที่นี่
หนึ่งในอุปกรณ์รับประทานอาหารที่บ่งบอกถึงความเป็นวัฒนธรรม ตะวันออกคือการใช้ ตะเกียบ (Chopsticks) ที่มีลักษณะเป็นแท่งสองแท่ง ขนาดใกล้เคียงกัน ทำจากไม้ ไม้ไผ่ พลาสติก สเตนเลส บางชนิดทำด้วยงาช้าง ใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการกินอาหารของคนในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม แม้กระทั่งประเทศไทย ตะเกียบก็เข้ามามีส่วนสำคัญบน โต๊ะอาหารเช่นกัน เนื่องเพราะอาหารจีนได้เข้ามาแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของไทยมาเป็นเวลานานแล้ว มีการใช้ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ในการรับ ประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวและบะหมี่
 

กล่าวกันว่าในประเทศจีนตั้งแต่สมัยโบราณ ฮ่องเต้ใช้ตะเกียบที่ทำจากเงิน เพื่อช่วยระวังและตรวจสอบ ยาพิษ (ประเภทออกไซด์ของโลหะ) ในอาหาร โดยเชื่อว่าถ้ามียาพิษในอาหาร ตะเกียบเงินจะเปลี่ยนจากสีเงิน เป็นสีดำ
 

ความที่ชาวจีนต้องใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารแทบ ทุกมื้อ และสืบเนื่องมาเป็นเวลานานนับพันปี จึงมีความรู้และคำสอนมากมาย จนกลายเป็นวัฒนธรรมและมารยาทในการใช้ตะเกียบ ซึ่งมีความพิถีพิถันมาก ไปจนกระทั่งถึงข้อห้ามต่างๆ เนื่องจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวจีนก็คล้ายกับชาวไทยตรงที่มี สำรับอาหารกลาง ทุกคนต้องคีบอาหารจากสำรับที่จัดไว้เพื่อรับประทานร่วมกัน

# วิธีถือตะเกียบที่ถูกต้อง ต้องถือตะเกียบไว้ตรงง่ามนิ้วหัวแม่มือ กับนิ้วชี้ ให้อีกสามนิ้วที่เหลือคอยประคองตัวตะเกียบไว้ และต้องถือให้เสมอกัน เมื่ออิ่มแล้วต้องวางตะเกียบขวางไว้กลางชามข้าวเสมอ
 # ห้ามวางตะเกียบเปะปะ ต้องวางตะเกียบให้เป็นระเบียบเสมอกัน ทั้งคู่ การวางตะเกียบไม่เสมอกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนจีนถือคำว่า “ชาง ฉาง เหลียง ต่วน” ความหมายตามตัวอักษรนั้น หมายถึง “สามยาวสองสั้น” เป็นสำนวนที่คนจีนมักหมายถึง ความตาย หรือความวิบัติฉิบหาย ดังนั้นการวางตะเกียบที่ทำให้เหมือนมีแท่งไม้ สั้นๆ ยาวๆ จึงไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง ห้ามทำเช่นนี้เด็ดขาด

# ห้ามใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น เนื่องจากเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ เทียบได้กับการใช้นิ้วชี้หน้าผู้อื่นนั่นเอง หรือแม้กระทั่งถือตะเกียบไว้ในลักษณะที่ให้นิ้วชี้ ชี้คนอื่นที่อยู่ร่วมโต๊ะ ก็ถือว่าไม่สุภาพเช่นเดียวกัน
 # ห้ามใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชาม ชาวจีนถือว่าเป็นกิริยาของ ‘ขอทาน’ ที่มักใช้วิธีเคาะถ้วยชาม ปากก็ร้องขอความเมตตา เพื่อชวนให้เวทนาสงสาร เรียกร้องความสนใจให้บริจาคทาน

# ห้ามใช้ตะเกียบคุ้ยหาอาหาร การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนโจรขุดสุสานเพื่อหาสมบัติที่ต้องการ ถือเป็นกิริยาน่ารังเกียจเลยทีเดียว เนื่องจากทำให้อาหารชิ้นอื่นๆ ในจานรวมเปรอะเปื้อนคราบจากปลายตะเกียบที่บุคคลนั้นคีบอาหารใส่ ปาก
 # ห้ามใช้ตะเกียบวนไปมาเหนืออาหาร หมายถึงการใช้ตะเกียบวนไปวนมาโดยไม่รู้ว่าจะ คีบอาหารจากจานใดที่วางอยู่บนโต๊ะ เป็นกิริยาไม่สุภาพที่ควรหลีกเลี่ยง ควรใช้ตะเกียบคีบอาหารที่ต้องการนั้น ทันที

# ห้ามอม ดูด หรือ เลียตะเกียบ กิริยานี้เป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างยิ่ง ยิ่งถ้าดูดตะเกียบจนเกิดเสียงดังด้วยแล้ว ถือเป็นกิริยาที่ไม่ได้รับการอบรมที่ดี
 # ห้ามคีบอาหารให้น้ำหยดใส่อาหารจานอื่น เมื่อคีบอาหารได้แล้วต้องให้สะเด็ดน้ำสักนิด เพื่อไม่ให้มีน้ำหยดระหว่างคีบอาหารกลับมาที่ถ้วยข้าวของตนเอง และอย่าทำอาหารที่คีบอยู่หล่นบนโต๊ะ หรือหล่นใส่อาหารจานอื่น การทำเช่นนี้ถือเป็นกิริยาที่เสียมารยาทเป็นอย่างยิ่ง

# ห้ามถือตะเกียบกลับข้าง หมายถึงการรับประทานอาหารแบบถือปลายตะเกียบขึ้น ใช้ช่วงบนของตะเกียบคีบอาหาร กิริยานี้น่าดูแคลนที่สุด ถือว่าไม่ไว้หน้าตนเอง เหมือนตะกละ-หิวจนไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น
 # ห้ามใช้ตะเกียบข้างเดียวเสียบแทงลงใน อาหาร ถือว่าเป็นการเหยียดหยามน้ำใจกัน ไม่ต่างอะไรจากการชูนิ้วกลางของฝรั่ง

# ห้ามปักตะเกียบไว้ในชามข้าว เนื่องจากดูเหมือนปักธูปในกระถางไหว้คนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตักข้าวให้คนอื่นแล้วปักตะเกียบไว้ในชามข้าวส่งให้ ถือว่าเป็นการสาปแช่ง
 # ห้ามวางตะเกียบไขว้กัน คนจีนในปักกิ่งถือว่าการทำลักษณะนี้เป็นการไม่ให้เกียรติกัน ทั้งแก่ตนเองและเพื่อนร่วมโต๊ะ
# ห้ามทำตะเกียบตกพื้น เพราะเสียมารยาทอย่างยิ่ง และมีความเชื่อว่า จะทำให้วิญญาณที่หลับสงบอยู่ใต้พิภพตื่นตกใจ ถือว่าเป็นสิ่งอกตัญญู จะต้องรีบเก็บตะเกียบคู่นั้นวาดเครื่องหมาย กากบาทบนจุดที่ตะเกียบตกทันที พร้อมกับกล่าวคำขอโทษ

มีความเชื่อมากมายแทรกอยู่ในวัฒนธรรมอาหาร ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามหลายข้อเป็นสิ่งที่น่ารับฟังและนำไปปฏิบัติ เพราะเมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ความเชื่อเหล่านั้นบัญญัติขึ้นก็เพื่อมารยาทที่ดีและสุขอนามัยในการรับ ประทานอาหารร่วมกันระหว่างบุคคลในครอบครัวและการรับประทานอาหารร่วมกับแขก ผู้มาเยือน

ทั้งนี้ก็เพื่อความรื่นรมย์ในการรับประทานอาหารนั่นเอง

********
หมายเหตุ: ข้อมูลสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง และวิกิพีเดีย สินค้าตะเกียบจากแผนกเครื่องครัว ชั้น 5 เซ็นทรัล ชิดลม

Tags : วัฒนธรรม มารยาท การใช้ตะเกียบ

view