จาก โพสต์ทูเดย์
แนวคิดและทัศนคติของชาวบ้านได้ถูกปรับให้คืนสู่วิถีพอเพียง วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเลือนหายไป แต่วันนี้ภาพเหล่านั้นกลับมาชัดเจนอีกครั้ง
โดย...ปวีณา สิงห์บูรณา
เป็นเวลากว่า 30 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้รอดพ้นจากวิกฤตและสามารถดำรงชีวิตอยู่ ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกปัจจุบัน
พระอัจฉริยภาพนี้ได้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทย ตลอดจนนานาอารยประเทศ ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความพอเพียง จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทีมงานโลก 360 องศาร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน จะพาท่านผู้อ่านและคุณเบิร์น เพื่อนต่างชาติจากประเทศเยอรมนี ที่ยังคงร่วมเดินทางกับคณะทีมงานมาตั้งแต่สองสัปดาห์ที่แล้ว ไปร่วมกันเรียนรู้และทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า “พอเพียง” ที่ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร จ.พิจิตร ที่ซึ่งเป็นเสมือนห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่เปิดกว้างให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้ทั้งเรื่องราวการเกษตร และหลักการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เรื่องราวการพัฒนาการเกษตรในด้านต่างๆ
ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร ตั้งอยู่ในเขต ต.เนินมะกอก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร มีพื้นที่ทั้งหมด 91 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธรแห่งนี้เป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึงทุกปี เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรและปลูกข้าวได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุมัติให้รับที่ดินซึ่งมีพสกนิกรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแปลงนี้ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการ พัฒนาประเทศ โดยมีแนวพระราชดำริให้ใช้ที่ดินแปลงนี้เป็นแปลงสาธิต และให้ทำการร่วมกับเกษตรกร 2 รายที่เช่าที่ดินอยู่เดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย
ในปี พ.ศ. 2549 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอพระราชทานพระราชานุมัติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอพระราชทานชื่อว่า “ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร” และได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 และสถานีพัฒนาที่ดินพิจิตร สำรวจและวางแผนการใช้ที่ดิน โดยให้ทุกหน่วยงานทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ และเน้นให้เป็นจุดเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินกิจกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทีมงานก็ได้มีโอกาสเยี่ยมชม และเข้าร่วมทำกิจกรรมสาธิตต่างๆ ในศูนย์ด้วย เช่น การทำปุ๋ยหมักโดยใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติ โดยเฉพาะการใช้พืชตระกูลถั่วมาเป็นปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร จึงได้แบ่งลักษณะการดำเนินงาน ออกเป็น 12 จุดเรียนรู้ 1 กิจกรรม ที่ครอบคลุมแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น แปลงพืชผัก ไม้ดอก สระน้ำ ปศุสัตว์และประมง โดยแต่ละจุดเรียนรู้ จะมีการก่อสร้างอาคารสำนักงานดำเนินกิจกรรม ด้านการเกษตรสาขาต่างๆ ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์สาธิตและให้ความรู้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา
นอกจากนี้ ภายในศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร ยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรและให้ความรู้ถึงคุณค่าของพืช สมุนไพรไทยที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน เล่าให้ทีมงานโลก 360 องศา ฟังว่า แต่เดิมชาวบ้านจะทำลายพืชสมุนไพรทิ้งเพราะไม่รู้ถึงคุณค่า ซึ่งตรงกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสว่า “ทรัพย์สมบัติในประเทศไทยเรามีมหาศาล” จากพระราชดำรัสในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้สนองพระราชดำรัสด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรที่มีอยู่แล้วใน ท้องถิ่น ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร และประโยชน์ด้านโภชนาการและสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพิ่มรายได้และมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีพืชสมุนไพรที่รวบรวมไว้แล้วทั้งสิ้น 55 ชนิด
หลังจากชมการสาธิตทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และเรียนรู้เรื่องพืชสมุนไพรต่างๆ แล้ว ทีมงานยังได้มีโอกาสชมการสาธิตการเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก ซึ่งเหมาะกับเกษตรกรที่มีที่ดินน้อย ให้สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า โดยเกษตรกรจะเลี้ยงไว้รับประทานเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะเลี้ยงไว้ขาย
บนพื้นที่กว่า 91 ไร่ ของศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร ยังมีจุดเรียนรู้และกิจกรรมอีกมากมายให้ทีมงานโลก 360 องศาได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นจุดเรียนรู้การเพาะเห็ด หรือจุดเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร จัดตั้งจุดเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็เพื่อต้องการอนุรักษ์และรักษาพันธุ์ข้าวในท้องถิ่นไว้ นั่นก็เพราะว่าคนไทยเราบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก รวมถึงคนกว่าครึ่งโลกเขาก็รับประทานข้าวเช่นกัน และข้าวพันธุ์ดีที่ผู้คนนิยมก็มาจากประเทศไทย....“ข้าวหอมมะลิ” นั่นเอง
เจ้าหน้าที่บอกกับทีมงานว่า คนส่วนมากที่มาเรียนรู้ในจุดนี้จะเป็นเกษตรกรหรือเป็นชาวนาตัวจริง แต่ว่าชาวนาสมัยนี้มักปลูกข้าวตามกระแสนิยม คือพันธุ์ข้าวที่เขาใช้มักจะมาจากการบอกต่อๆ กันมาว่าพันธุ์นี้ดี ให้เมล็ดข้าวเยอะ รวงใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วพันธุ์ข้าวนั้นๆ อาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกรก็เป็นได้ ดังนั้นที่จุดเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธรแห่งนี้ จึงมุ่งเน้นให้เกษตรกรรู้จักการคัดเลือกพันธุ์ข้าว และเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองเป็นหลัก และที่จุดเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ทีมงานและคุณเบิร์นได้โชว์ฝีมือ “โยนกล้าข้าว” ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบใหม่ ที่สามารถนำมาใช้แทนการปักดำด้วยเครื่อง ซึ่งผลผลิตที่ได้นอกจากจะไม่แตกต่างกันแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตยังต่ำกว่าการปักดำด้วยเครื่องอีกด้วย
แต่กิจกรรมที่เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากชาวบ้านได้อย่างมาก ก็คือการอาสากวาดคอกวัวและทดลองรีดนมวัว ของทีมงานและคุณเบิร์น ซึ่งกิจกรรมนี้เองทำให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า การทำงานทุกอย่างต้องเกิดจากการเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้วต้องตั้งใจ เพื่อให้เกิดความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญนั่นเอง ดังนั้นภาพความสำเร็จของการดำเนินงานภายในศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร ตามแนวพระราชดำริ จึงไม่ได้ปรากฏให้เห็นแค่พื้นที่ของโครงการสวยๆ เท่านั้น หากแต่องค์ความรู้เหล่านี้ยังได้ขยายไปยังหมู่บ้านที่อยู่โดยรอบ เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทุกๆ กิจกรรมที่ทีมงานโลก 360 องศาได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้ ที่ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตร สิรินธร จากการพาชมของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน ล้วนเกิดจากแนวพระราชดำริเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว ที่ถูกนำมาปรับใช้อย่างครบวงจร ชาวบ้านสามารถปลูกข้าวและพืชผัก เลี้ยงปลา ซึ่งเป็นทั้งอาหารในครอบครัวและสร้างรายได้เลี้ยงตนเอง ที่สำคัญแนวคิดและทัศนคติของชาวบ้านได้ถูกปรับให้คืนสู่วิถีพอเพียง วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเลือนหายไป แต่วันนี้ภาพเหล่านั้นกลับมาชัดเจนอีกครั้ง ที่สำคัญทั้งชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรและทีมงานที่เป็นผู้มาเยือน ได้รู้สึกตรงกันว่าผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ทั่วทุกหนแห่ง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมองเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการบูรณาการทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อที่จะให้ประชาชนของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดี จากการใช้ทรัพยากรดินอย่างครบวงจร และเกิดคุณค่าอย่างสูงสุดและยั่งยืน