สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การ วิจัยเกี่ยวกับความพอใจและความสุข

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ไสว บุญมา sboonma@msn.com



มนุษย์ ทุกชาติทุกภาษาต่างมุ่งแสวงหาความสุข แต่อะไรเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุข เป็นประเด็นที่มักถกเถียงกัน รวมทั้งในแวดวงนักวิชาการด้วย ในช่วงเวลาสองปีมานี้ มีผลการวิจัยชิ้นใหญ่ของสององค์กรพิมพ์ออกมา ชิ้นแรกเป็นของมูลนิธิเศรษฐกิจใหม่ในอังกฤษซึ่งสรุปว่า หลังจากมีปัจจัยเบื้องต้นเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว การใช้จ่ายเพื่อให้ได้สิ่งของมาเพิ่มจะไม่ทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขหลังจากร่างกายมีทุกอย่างเพียงพอแล้วประกอบด้วย สิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจแยกออกได้เป็น 5 หมวดหมู่ด้วยกันคือ

การมีความ สัมพันธ์อันดีกับผู้ที่อยู่รอบข้างและการมีเพื่อน ความสัมพันธ์เป็นฐานของการมีชีวิตอันอบอุ่นและมั่นคง รวมทั้งความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ญาติ เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานและเพื่อนทั่วไปในชุมชน นอกจากจะสร้าง ความสุขกายสบายใจแล้ว ความสัมพันธ์ อันดียังเป็นเกราะกำบังมิให้เกิดปัญหาที่มาจากโรคซึมเศร้าเหงาหงอยอีกด้วย

การมีความเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิตย์ จากการออกกำลังกายอย่างเข้มข้นไปจนถึงการเคลื่อนไหวจำพวกเดิน เต้นรำ และทำสวนครัว นอกจากจะสร้างความสุขกายสบายใจแล้ว การเคลื่อนไหวอยู่ยังมีความสำคัญต่อการลดความกระสับกระส่าย ช่วยเสริมสร้างพลังทางสมองของเด็ก และป้องกันการถดถอยของมันสมองในผู้สูงวัยอีกด้วย

การมีความช่าง สังเกต ซึ่งรวมทั้งการมองเห็นความเป็นไปภายนอกจำพวกสภาพของท้องถนน การแต่งกายของฝูงชนตามศูนย์การค้า สีหน้าของผู้ที่อยู่ ใกล้ ๆ และการตระหนักถึงความรู้สึก ภายในจิตใจของตัวเอง ผลการศึกษานี้มีความคล้ายกับผลของการปฏิบัติจำพวกวิปัสสนาของศาสนาพุทธ ที่ฝึกให้ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัจจัยของการทำให้เกิดความสุขกายสบายใจเพิ่มขึ้น

การ เรียนรู้อยู่เป็นนิจ ซึ่งมีความสำคัญต่อการมีความสุขสำหรับคนทุกรุ่นทุกวัย ในวัยเด็ก การเรียนรู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านมันสมองและด้านการเข้าสังคม ในวัยผู้ใหญ่ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียนรู้อาจทำได้หลากหลายวิธี รวมทั้งการรื้อฟื้นสิ่งที่เราเคยมีความสนใจ ในอดีต การเรียนวิชาใหม่ ๆ ทั้งในและนอกสถานศึกษา การฝึกเล่นเครื่องดนตรี ที่ไม่เคยเล่นมาก่อน การทำอาหารจานแปลก การทำตุ๊กตาและการตัดเย็บเสื้อผ้าเอง การอาสาทำงานใหม่ ๆ ก็เป็นการเรียนรู้อยู่เป็นนิตย์เช่นกัน

การให้ ซึ่งในที่นี้มีขอบเขตกว้างมาก จากกิจกรรมง่าย ๆ จำพวกการส่งยิ้มให้ คนอยู่ข้าง ๆ และการกล่าวคำขอบคุณ การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อยู่รอบข้าง ไปจนถึงการสละเวลาออกไปอาสาช่วยงานในชุมชนและการทดแทนคุณแผ่นดิน กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ผู้ทำรู้สึกว่าตัวเองมีค่าและชีวิตมีความหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในตัวเอง ในวัยเด็ก การให้ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการร่วมมือกับผู้อื่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการเข้าสังคม ในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทอง การแบ่งปันและการให้ใน รูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้ ทำให้ชีวิต มีความหมายยังผลให้อายุยืนยาวขึ้น

นอกจากปัจจัยที่แยกได้เป็น 5 หมวดหมู่ดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยที่ควรได้รับการพิจารณาอีก 3 ด้านด้วยกัน คือด้านอาหาร ซึ่งควรประกอบด้วยอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและในปริมาณที่มีความสมดุล ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการศึกษาพบว่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมีความสุขกายสบายใจมากกว่า ผู้ที่อยู่ไกลธรรมชาติ และด้านงาน ซึ่งการศึกษาพบว่าการทำงานที่มีความพึงพอใจ ทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น

การ วิจัยอีกชิ้นหนึ่งใช้ข้อมูลของการสอบถามเรื่องความเป็นอยู่และความเห็นของ ประชาชนจำนวน 136,839 คน ใน 132 ประเทศ โดยกัลลัปโพลในช่วง ปี 2548-2549 การสอบถามนั้นครอบคลุมมากที่สุด เมื่อเทียบกับการศึกษาเรื่องปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุขที่ผ่าน ๆ มา การวิจัยนี้แยกความพอใจโดยทั่วไปในชีวิตอันเป็นความพอใจในระยะยาวออกจากความ สุขในระยะสั้น ๆ ของแต่ละวัน ผลของการวิจัยลงพิมพ์ใน Journal of Personality and Social Psychology ประจำเดือนกรกฎาคม 2553

การวิจัย สรุปว่า รายได้เป็นปัจจัยสำคัญของการมีความพอใจในชีวิตโดยรวม นั่นคือผู้ที่มีรายได้สูง มักมีความพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนสูง ไม่ว่าผู้นั้นจะมาจากชาติไหน ภาษาใด และอายุเท่าไร แต่เมื่อถามถึงการมีความสุขในชีวิตประจำวันอันเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์และความ รู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ระดับของรายได้แทบไม่มีความสำคัญเลย ปัจจัยที่ทำให้บุคคล มีความรู้สึกที่ดี กลับเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับจิตวิทยามากกว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น การมีครอบครัวที่อบอุ่นและการมีเพื่อนสนิทที่สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ การทำงานที่สร้างความพอใจให้ผู้ทำสูง ความมีอิสระ ที่จะตัดสินใจในสิ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิตของตัวเอง และการได้รับความเคารพ จากผู้อื่น

การวิจัยสองชิ้นนี้น่าจะยืนยันว่า การมีรายได้ดีและมีเงินพอสำหรับซื้อหาสิ่งต่าง ๆ มาสนองความต้องการของร่างกายนั้นมีความสำคัญยิ่ง แต่เมื่อร่างกายได้รับการตอบสนองตามความจำเป็นแล้ว ปัจจัยอื่น มีความสำคัญในการก่อให้เกิดความสุข ก่อนหน้านี้ มีหนังสือสามเล่มที่มีข้อสรุปในแนวเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น บางเล่มมีข้อมูลที่ยืนยันว่า การมีเงินมากจนเกินไป อาจทำให้ความสุขลดลง สองเล่ม เขียนโดย ชาวอเมริกัน ชื่อ The Progress Paradox : How Life Gets Better While People Feel Worse และ The Paradox of Choice : Why More Is Less อีกเล่มหนึ่ง เขียนโดยชาวอังกฤษ ชื่อ Happiness : Lessons from a New Science ซึ่งแปลเป็นไทยแล้ว ทั้งสามเล่มนี้มีบทคัดย่อ เป็นภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ www.bookishclub.com

ปัจจัยที่กล่าวมา นี้จะมีบทบาทอย่างไรในการตัดสินใจของมหาเศรษฐีเช่นวอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเดือนที่แล้ว เขาได้เขียนสัญญาลงในเว็บไซต์แห่งหนึ่งว่า เขาจะบริจาคทรัพย์สินของเขาอย่างน้อย 99% เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ ในสัญญานั้น เขาบอกว่า การมีสุขภาพดีและการมีเพื่อนสำคัญมาก และการบริจาคเวลา มีค่ากว่าการบริจาคเงิน ทรัพย์สินส่วนใหญ่ เขาจะให้มูลนิธิของบิลล์ เกตส์ นำไปช่วยชาวโลก เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นอกจากเคยบอกว่าจะสละทรัพย์ราว 95% เพื่อช่วยชาวโลกแล้ว บิลล์ เกตส์ ได้ลาออกจากงานในไมโครซอฟท์ เมื่ออายุเพียง 53 ปี เพื่อเอาเวลามาช่วยเพื่อนมนุษย์ ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ทั้งสองพยายามชักชวนบรรดามหาเศรษฐีให้บริจาคทรัพย์อย่างน้อย 50% เพื่อช่วย เพื่อนมนุษย์ด้วย ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์ และบิลล์ เกตส์ ดูจะมีความสุขมากจากการได้ช่วยผู้อื่น

ผลการวิจัยและเรื่องราวที่ เล่ามานี้ น่าจะชี้บ่งว่า การพัฒนาจำพวกมุ่งเพิ่มรายได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไปเรื่อย ๆ นั้นไม่จำเป็น มองจากด้านการมีความสุข มันไม่จำเป็นมากนัก นอกจากการขยายตัวจะกระจายไปถึงผู้ที่ยังมีรายได้ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพเบื้อง ต้น ยิ่งถ้ามองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ได้มาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยแล้ว การขยายตัวต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งไม่มีความจำเป็นเลย ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า มนุษย์เราจะฉลาดพอหรือไม่ที่จะตัดสินใจว่า "พอ" เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง และบริจาคส่วนเกิน หรือหยุดสร้างรายได้ เพื่อเอาเวลามาบริจาคให้แก่การช่วยเพื่อนมนุษย์ ดังที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ และบิลล์ เกตส์ ทำเป็นตัวอย่าง

Tags : การวิจัย เกี่ยวกับความพอใจ ความสุข

view