จากประชาชาติธุรกิจ
เพื่อนผมไปงานศพของผู้ใหญ่ เล่าให้ฟังว่า เห็นพวงหรีดกองสูงเป็นภูเขาลูกย่อม ๆ อาจเป็นเพราะท่านผู้ตายเป็นที่เคารพรัก และต้องมาเสียชีวิตพร้อม ๆ กัน ทำให้พวงหรีดกองพะเนินเทินทึก
ปัญหาคือ พวงหรีดจำนวนมหาศาล จะกลายเป็นขยะทันที เมื่อภารกิจของมันเสร็จสิ้นลง
ใครหลาย ๆ คนพูดตรงกันว่า น่าเสียดาย พวงหรีด 500 บาท ถึง 3,000 บาท ทันทีที่ป้ายชื่อของผู้มีเกียรติถูกถอด เอาไปแปะไว้ข้างฝา พวงหรีดก็ถูกโยนทิ้งข้างศาลาทันที
ลองคิดดูว่า แต่ละวันพวงหรีดจำนวนมาก ในวัดดัง ๆ ในกรุงเทพฯ มากมายมหาศาลแค่ไหน
งานวิจัยเรื่อง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการตาย ของคุณศิรินันท์ กิตติสุขสถิต และวนิพพล มหาอาชา ระบุว่า พวงหรีดทั่วไปมี 3 ประเภท ได้แก่ พวงหรีดที่ทำจากดอกไม้สด พวงหรีดที่ทำจากดอกไม้แห้ง และพวงหรีดที่ใช้วัสดุผ้าขนหนูมาเป็นตัวหรีด ราคาพวงหรีดประเภทดอกไม้สดมีราคาเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 500-3,000 บาท เป็นพวงหรีดที่นิยมมากที่สุด รองลงมาเป็นพวงหรีดแบบดอกไม้ประดิษฐ์หรือดอกไม้แห้ง ราคา 500-1,500 บาท สำหรับพวงหรีดที่ทำด้วยวัสดุผ้าเป็นพวงหรีดที่มีผู้นิยมน้อยที่สุดและมีราคา ต่ำที่สุดคือ 300-1,500 บาท
มูลค่าของธุรกิจพวงหรีดตกประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี นับว่าไม่ใช่น้อย และเอาเข้าจริงธุรกิจพวงหรีดก็เกี่ยวโยงกับคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนที่ปลูกและตัดไม้ดอก การจ้างแรงงานในการจัดทำตกแต่งพวงหรีด การจ้างแรงงานในการขนส่งพวงหรีดไปตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น เป็นห่วงโซ่ที่ยาวมาก
เพื่อนของผมโยงไปถึงบริษัทที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ด้วยซ้ำไป
หลายปีที่ผ่านมา เคยมีคนเสนอว่า เลิกให้พวงหรีดกันดีไหม แล้วหาอะไรมาแทนพวงหรีด ช่วงหนึ่งมีการเสนอให้ใช้ต้นไม้แทนพวงหรีด แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ได้รับความนิยม เพราะเป็นภาระในการจัดการกับต้นไม้และกระถาง ที่สุดก็กลายเป็นภาระของผู้ให้และผู้รับ
ช่วงนี้มีการขายไอเดีย "กล่องนาบุญ" ที่อ้างว่าเป็นพวงหรีดรูปแบบใหม่ ที่บรรจุอุปกรณ์ เครื่องใช้ของนักเรียนอยู่ภายใน เช่น กระเป๋านักเรียน สมุด ปากกา ดินสอสีเทียน ไม้บรรทัด อุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องกีฬา ใส่ไปในกล่อง เมื่อเสร็จงานก็นำไปมอบให้ผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส แต่ดูเหมือนวิธีการนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก
วิธีการเลี่ยงพวงหรีดที่นิยมมากที่สุดคือ ฝ่ายเจ้าภาพระบุไว้ในประกาศเลยว่า ไม่รับพวงหรีด ไม่รับเงินช่วย
แต่บางรายก็ไม่รับพวงหรีด แต่รับเงินช่วย เพื่อนำเงินช่วยไปทำบุญอะไรก็ตามแต่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเลิกค่านิยม "พวงหรีด" ผลกระทบต่อผู้อยู่ในธุรกิจก็มีไม่ใช่น้อย แล้วจะเอาอย่างไรกันดี แต่ถ้าปล่อยให้พวงหรีดถูกนำมาทิ้งเป็นขยะ ก็เป็นการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม อาจต้องผ่านรุ่นของคนไปอีกหลายรุ่น
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งท่านเล่าว่า ได้เขียนเรื่องพวงหรีดลงในพินัยกรรม สั่งลูกหลานไว้ชัดเจนเลยว่า งานศพของฉัน ไม่รับพวงหรีด เพราะไม่มีประโยชน์
ผมก็เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้ใหญ่ท่านนี้ เพราะดูไม่ประหยัดเอาซะเลยที่เอาพวงหรีด 2,000-3,000 บาทไปโยนทิ้ง ดูเปล่าประโยชน์
ผมโยนปัญหานี้ให้เพื่อน ๆ ช่วยถกเถียง แต่ก็ดูไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ หลายคนบอกผมว่า สังคมไทยเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชื่อเสียงเรียงนามเป็นเรื่องสำคัญ
ใครสำคัญ ไม่สำคัญ ใหญ่ไม่ใหญ่ ขอให้ดูเจ้าของพวงหรีด และดูจำนวนพวงหรีดว่ามากน้อยแค่ไหน
ในแวดวงชนชั้นนำ นักธุรกิจ นักการเมือง พวงหรีดคือดัชนีชี้วัดอะไรมากมายที่หลายคนคาดไม่ถึง
เพื่อนของผมเป็นนักข่าวสายพรรคประชาธิปัตย์ ในงานศพคุณพ่อของเพื่อน พวงหรีดจากพรรคประชาธิปัตย์นับได้เป็นสิบพวง ตั้งแต่เบอร์ 1 หัวหน้าอภิสิทธิ์ จนถึงลูกพรรคในเขตเลือกตั้ง หรือ ถ้านักข่าวสายพรรคเพื่อไทย ก็แน่นอนว่า พวงหรีดจากฝ่ายค้านก็เต็มศาลาวัด แม้ในงานศพเองก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้
นี่คือ ธุรกิจการเมืองเบื้องหลังพวงหรีด ! ขุนสำราญภักดี