จาก โพสต์ทูเดย์
ปากคำบางส่วนในจุลสาร “ราชดำเนิน” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฉบับพิเศษเล่มนี้เป็นจุลสารแจกฟรีของสมาคมนักข่าวฯ เป็นบันทึกอีกเล่มที่ให้ข้อมูลสำคัญกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้....
โดย...ทีมข่าวการเมือง
ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ “กระชับวงล้อม” เดือนพ.ค. 2553 ระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง วันนี้ยังไม่มีการสรุปชัดว่า ใครคือ “ฝ่ายยิง” ทหาร ผู้ชุมนุม ชุดดำ กองกำลังติดอาวุธ ขณะที่ รัฐบาล องค์กรอิสระ ได้ตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาสอบสวนเพื่อคลี่ปมข้อเท็จจริงต่างๆ
จุลสาร “ราชดำเนิน” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุด โดยทีมงานจากผู้สื่อข่าวภาคสนามหลายสังกัด ที่ร่วมเป็นกองบรรณาธิการ ได้รวบรวมข้อมูลปากคำสื่อบางส่วนที่อยู่ในเหตุการณ์ นำเสนอเรื่องราว ข้อเท็จจริง พาดหัวปกว่า “โศกนาฎกรรม พฤษภา53-บันทึกปากคำสื่อ สมรภูมิราชประสงค์ กระชับวงล้อมทะเลแดง”
นอกจากมีข้อมูลที่ควรแก่การบันทึกเก็บไว้ เช่น ปฏิทินลำดับเวลาก่อนสู่วิกฤต ตารางยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน สถิติระเบิดเอ็ม 79 ยังมีการวิเคราะห์เรื่องราวที่น่าสนใจจากนักข่าวภาคสนาม เช่น โครงสร้างคนเสื้อแดงพร้อมแผนผัง เอ็กซ์คลูซีฟลึกลับในศอฉ. เนื้อหาบางส่วนยังจาะจงไปที่ “การกระชับวงล้อม” ตั้งวันที่ 14พ.ค.จนถึงวันที่แกนนำนปช.ประกาศยุติชุมนุม วันที่ 19 พ.ค. ตามสมรภูมิที่ต่างๆ เช่น บ่อนไก่ ดินแดง ราชปรารถ สีลม หลังเวทีแกนนำที่ราชประสงค์ โดยมีการนำเสนอข้อมูลที่สวนกระแสกับความเชื่อว่าทหารเป็นฝ่ายยิงผู้ชุมนุม ด้านเดียว
นิมิต สุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากสำนักข่าวไทย ในเรื่อง “ใครยิงใคร??” ระบุตอนหนึ่งในเหตุการณ์ที่บ่อนไก่ว่า เขาอยู่หลังแนวทหารตลอด เมื่อผู้ชุมนุมพยายามเข้ามา ทหารได้ยิงกระสุนยาง เตือนเป็นระยะ
“แต่เหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดคิด และถือว่าเป็นอันตรายอย่างมากคือ กลุ่มชายฉกรรจ์ได้แอบลักลอบเข้าไปในสวนลุม และขับรถมอเตอร์ไซต์ 2-3 คัน เข้ามาใกล้แนวทหาร ซึ่งไม่ทันระวังตัว เนื่องจากมีแนวต้นไม้ริมรั้วขึ้นสูง มีการกราดยิงด้วยปืนอาก้าใส่ทหาร โดยไม่ได้สนใจว่าจะโดนใครบ้าง ทำให้ผมกับสื่ออีกหลายชีวิตที่อยู่กับแนวทหาร ต้องหมอบราบกับพื้นโดยอัตโนมัติ”
อีกตอนหนึ่ง นิมิตร บอกว่า ช่วงหนึ่งที่มีกลุ่มควันที่พวยพุ่ง จากการเผายางรถยนต์ ผู้ชุมนุมหลายคนที่มีอาวุธและระเบิดเพลิงในมือโดยพยายามบุกเข้ามาในตอนกลาง คืน ซึ่งตรงนั้นถือว่ามืดมาก ก็จะถูกสอยโดยพลแม่นปืนของทหารอยู่ตลอด จุดนั้นมือยิงถูกนำเสนอเป็นภาพข่าวใน นสพ.ไทยรัฐด้วย
“...ผมกับทีมจึงตัดสินใจถอนจากจุดนั้นออกไป ระหว่างเดินทางกลับทราบว่าพลทหารซุ่มยิง ซึ่งประจำตรงจุดที่ผมเพิ่งถอนทีม ถูกยิงหัว แต่เขาใส่หมวกเหล็ก ทำให้ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
และในช่วงวันสุดท้ายก่อนจะมีการยุติและสลายการชุมนุม ผมกลับไปอยู่ในจุดดังกล่าวอีกวันนั้นพลซุ่มยิงของทหาร ที่แอบขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 15 ของอาคารที่กำลังก่อสร้าง ถูกซุ่มยิง ไม่ทราบทิศทาง ซึ่งไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ทหารคนนั้นได้รับบาดเจ็บที่ท้อง ถูกลำเลียงส่งโรงพยาบาลเร่งด่วน ด้วยสภาพทุลักทุเล เพราะลำเลียงทางบันไดจากชั้น 15 ลงมา เนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ก่อนจะนำขึ้นรถพยาบาลซึ่งถูกนำมาจอดข้างถนน
...ทหารปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วย คล้ายกับที่ใช้ในยุทธการ หรือในสนามรบตามที่ได้รับการฝึกมา คือ วางแนวยิงของทหาร 10 กว่านาย วิ่งระดมยิงด้วยปืนชนิดต่างๆ ออกไปอย่างต่อเนื่อง จนรถพยาบาลวิ่งออกไปได้ คาดว่าป้องกันไม่ให้ถูกซุ่มโจมตี ระหว่างเอาคนเจ็บมาขึ้นรถพยาบาล ซึ่งเหตุการณ์นี้ มีนักการเมืองนำภาพทหารนุ่งกางเกงขาสั้นสะพายเอ็ม 16 ไปเผยแพร่ทางสื่อ เพราะภาพชายชุดลำลองที่สะพายปืน ซึ่งฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปรายในสภา และรัฐบาลชี้แจงว่าเป็นทหารส่งข้าว เกิดจากจุดนี้”
สอดคล้องกับ ปรีชาพล อินทรโชติ โปรดิวเซอร์ข่าวของทีวี ไทยผู้ผ่านการทำข่าวสงครามมาโชกโชน เขาให้สัมภาษณ์ผ่านจุลสารราชดำเนิน หัวเรื่องว่า “สไนเปอร์จากฝั่งแดง!!” ระบุเหตุการณ์ระทึกขวัญที่บ่อนไก่หลายตอน เช่น ต้องหลบM79 ในช่วงกลางคืนที่นอนกับทหาร
อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า ทหารก็ใช้กำลังในการยิงใส่ผู้ชุมนุม แต่เป็นกระสุนยาง ส่วนกระสุนจริงก็อาจจะมี เช่น เล็งไปที่ขาผู้ชุมนุมเพื่อป้องกัน ส่วนชุดสไนปเปอร์เชื่อว่า น่าจะมีตามตึกสูง เพราะวันที่ชุดส่งกำลังบำรุงของทหารได้ขึ้นไปส่งอาหาร ได้ถูกฝั่งตรงข้ามยิงเข้ามาจึงรู้ว่า ทหารได้วางสไนเปอร์ใสตึกสูง
ปรีชาพล ระบุว่า เขาเห็นฝั่งผู้ชุมนุม มีการใช้อาวุธ ทั้งปืนสั้นและปืนยาวยิงใส่ทหาร เช่น วิ่งออกมาและก็เอาปืนสั้นยิงใส่มา 1 นัด แล้วก็หลบเข้าไป โดยทหารฝั่งตรงข้ามสนามมวยลุมพินีถูกยิงเข้าที่ท้อง 1 นัด และจากการคลุกกับทหาร ทหารบอกว่า ฝั่งตรงข้ามมีสไนเปอร์อยู่ที่อาคารลุมพินีทาวเวอร์ด้วย เพราะกระจกถูกปิดเปิดตลอดเวลา
“...ฉะนั้น ผมก็ว่าฝ่ายตรงข้าม เขาก็มีชุดที่เขาจับตาคอยสังเกตุการณ์ดูว่า ทหารมีความเคลื่อนไหวบริเวณไหน เท่าที่ดู แสดงว่า ฝั่งของกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการดำเนินกลยุทธ์ทางทหาร ทางยุทธวิธี ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า จะต้องมีบุคคลหรือกลุ่มคนที่ผ่านการเรียน หรือ ฝึกการใช้อาวุธ หรือเรียนเรื่องการดำเนินกลยุทธ์ทางการทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะดูลักษณะการวางกำลัง การถอยร่น ตั้งรับ หรือ การก่อกวน ดำเนินกลยุทธ์ทางด้านจิตวิทยา เขาก็เป็นไปตามหลักตามตำราของทหาร ฉะนั้น ไม่ใช่เป็นแค่กลุ่มผู้ชุมนุมที่มาต่อต้านรัฐบาล แต่ผมเชื่อว่า มีกลุ่มคนที่มีความสามารถในทางทหารเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย” ปรีชาพล สรุป
ส่วน พรรณี อมรวิพุธพนิช จากนสพ.คมชัดลึก เหยี่ยวข่าวหนึ่งเดียวในวัดปทุมวนาราม ในเรื่อง “ภาพที่เห็นกับตาในวัดปทุม” ยืนยันว่า 6 ศพที่ตายในวัดปทุมฯ ตามที่เชื่อกัน ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมี 2 รายที่ถูกยิงนอกวัดฯ แต่ศพถูกนำมาเก็บไว้ที่วัดปทุมฯ
“แม้จะมีทั้งภาพนิ่งและภาพวิดีโอ แต่มุมภาพไม่ดีคนวุ่นวายมากไป จึงต้องหันไปหยิบเก้าอี้พลาสติกมาวางแล้วปีนขึ้นไป แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควรเลยปีนขึ้นไปยืนบนโต๊ะแทน วินาทีนั้นได้ภาพคนยกเปลขนคนเจ็บผ่านหน้าประตูวัดเข้ามาพอดี ผู้ถูกยิง 2 คนแรกถูกยกเข้ามา หน่วยอาสาแพทย์พยายามช่วยชีวิต ระหว่างนั้นก็มีเสียงปืนดังระรัวอีกหลายชุด เริ่มมีเสียงขอร้องให้ไทยมุงหลบไปหลังวัดให้หมด เพื่อความปลอดภัย”
อีกปากคำที่น่าสนใจ คือ บรรยากาศหลังเวทีราชประสงค์จากบรรดาช่างภาพทีวีที่เห็นคาหนังคาตา
“อภิชัย แก้วกล้า” ช่างภาพโมเดิร์นไนน์ ซึ่งยืนอยู่บนเวทีจนวินาทีสุดท้ายที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุม เล่าว่า ขณะที่แกนนำประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับ แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่พอใจ เริ่มมีปฏิกิริยาด้วยการขว้างก้อนหินใส่กระจกห้างสรรพสินค้า และจุดไฟระเบิดขวดที่ทำขึ้นเอง บางส่วนเตรียมขว้างไปในห้างเกสร พลาซ่า
“หลังแกนนำลงเวทีได้เดินไปมอบตัวที่สตช.ก็ได้เข้าไปอยู่ภายใน โรงพยาบาลตำรวจ ได้ถ่ายภาพซูมมาฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นห้างเซ็นทรัลเวิร์ดฝั่งเซนเห็นชายกลุ่ม หนึ่งแต่งตัวคล้ายการ์ด นปช. ขี่รถมอเตอร์ไซต์มาจอดด้านหน้า ถอดหมวกแก๊ป และนำหมวกไหมพรมมาใส่ปกปิดใบหน้า ก่อนเดินมุ่งหน้าเข้าไปใช้ทั้งหิน ระเบิดขวด ทุบทำลายกระจกห้างและเข้าไปภายในห้าง ระหว่างนั้นยังคงมีเสียงดังคล้ายระเบิดและปืนเป็นระยะ”
“ธเนศ สังข์ฉาย” ช่างภาพช่อง 3 บอกเช่นกันว่า หลังแกนนำนปช.มอบตัว. ได้เกิดเหตุระทึกกับสื่อนับร้อยชีวิตที่อยู่ในสตช. เนื่องจากกระสุนปืนไม่ทราบชนิด ได้สาดเข้ามาทางด้านหน้า สตช. ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดปทุมวนาราม ทุกคนหมอบลงกับพื้นโดยอัตโนมัติ เสียงกระสุน มีประมาณ 3-4 ชุด ชุดละ 3-4 นัด โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
ปากคำบางส่วนในจุลสาร “ราชดำเนิน” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฉบับพิเศษเล่มนี้เป็นจุลสารแจกฟรีของสมาคมนักข่าวฯ เป็นบันทึกอีกเล่มที่ให้ข้อมูลสำคัญกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้
***ผู้ที่ต้องการจุลสารราชดำเนินสามารถ ติดต่อได้ที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ถ.สามเสน ดุสิต กรุงเทพฯ โทร.0-2668-9422***