จาก โพสต์ทูเดย์
“ความอยู่รอดของประเทศไทย” ก็จะหมายถึงการมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้ได้มีส่วนอันสำคัญในการเสริมสร้าง...
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือชื่อ “เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ” ของคุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย พอกลางคืนมาเปิดอ่านจนจบเล่มหนึ่งอ่านแล้วก็นอนไม่หลับไปทั้งคืน
ที่นอนไม่หลับก็เพราะเกิดความรู้สึก “หวาดหวั่น” ในหลายๆ เรื่อง ส่วนหนึ่งก็มาจากข้อความในหนังสือเล่มดังกล่าวที่อธิบายถึง “ความบากบั่น” ของสถาบันกษัตริย์นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถูกยึด อำนาจโดยคณะราษฎรในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 มาจนถึงการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันภาย หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้เป็นพระเชษฐา
สิ่งที่พี่ติ๋ม (ชื่อเล่นของคุณวิมลพรรณ) เขียนคือการนำข้อมูลทั้งของไทยและต่างประเทศมาขยายความ “ความรู้” ที่คนไทยเคยมีอยู่แล้วของคนไทย เพียงแต่ทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยกระบวนการเขียนอย่าง “มืออาชีพ” คือการเรียบเรียงอย่างมีระบบด้วย “ข้อมูล” แล้วใช้ลีลาการนำเสนอที่ง่ายๆ แต่น่าอ่าน จึงทำให้หนังสือเล่มนี้มี “ความสมบูรณ์” ในทุกๆ ด้าน
ที่บอกว่าพี่ติ๋มเขียนในสิ่งที่คนไทย “รู้อยู่แล้ว” ก็คือ หนึ่ง คนไทย “รู้ดี” ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อคนไทย สังคมไทย และประเทศไทยนี้เพียงไร สอง คนไทย “รู้พอสมควร” ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ส่งผลต่อประเทศไทยในทุกวันนี้อย่างไร และสาม คนไทย “พอรู้บ้าง” ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นส่งผลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราแค่ ไหน ซึ่งในประการสุดท้ายนี้เองคือสิ่งที่พี่ติ๋มเขียนได้ชัดเจนเสียจนเมื่ออ่าน แล้วต้อง “คิดมาก” จน “นอนไม่หลับ” เพราะอ่านแล้วจึงทำให้ “รู้ซึ้ง” ในหลายๆ เรื่อง
ผู้เขียนไปถึงก่อนเริ่มงานกว่าชั่วโมง แต่ผู้คนที่มาถึงก่อนเวลานั้นก็นับจำนวนได้เป็นร้อย ได้พบผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและคนดังๆ หลายท่าน บางท่านผู้เขียนได้ไปกราบสวัสดีตามธรรมเนียม ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงสนทนาของท่านเหล่านั้น ทั้งที่พูดคุยกันอยู่ (แต่ผู้เขียนแอบได้ยิน) และที่หันมาพูดกับผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนขอกลั่นกรองเอามาเล่าเฉพาะที่ท่านเหล่านั้นมีความเป็นห่วง และแน่นอนว่าที่พวกเขาเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ “ในหลวง”
มีท่านหนึ่งที่คงจะรู้ว่าผู้เขียนเป็นกรรมการในคณะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมาพูดในทำนองปรึกษาว่า “ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญไม่ให้ใครแตะต้องในหลวงจะได้ไหม” ซึ่งท่านได้ระบายความรู้สึกว่า “ใครๆ ก็อ้างในหลวง อ้างว่า จงรักภักดี แล้วก็เอาท่านไปทำเสียหายต่างๆ” แล้วก็มีอีกท่านที่อยู่ใกล้ๆ เสริมออกมาดังๆ ว่า “ไอ้ที่น่าเกลียดมากก็คือ พรรคการเมืองบางพรรคนำสถาบันไปขึ้นป้ายหาเสียง มันไม่กลัวเหากินหัวมันบ้างหรือ”
มีท่านหนึ่งที่เสนอความเห็นอย่างน่าสนใจว่า “การที่เราจะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ให้มั่นคง แม้อาจจะต้องมีการออกกฎหมายอะไรที่เป็นพิเศษ ก็เพราะพระมหากษัตริย์ของเราไม่เหมือนที่อื่น หรือไม่เหมือนใครในโลก” ซึ่งก็มีอีกท่านหนึ่งร่วมแจมว่า “นั่นนะซิ ถ้าจะให้เป็นแบบอังกฤษหรือกษัตริย์ในเมืองฝรั่งก็คงจะเอาใครต่อใครมานินทา ทุกวัน”
ผู้เขียนใช้เวลาอีกสองวันอ่านหนังสือชุดนี้ที่มีอยู่สามเล่มจนจบ (ไม่ได้อ่านหนังสือเก่งจนสามารถอ่านหนังสือพันกว่าหน้านี้จบภายในเวลาไม่กี่ วัน แต่ผู้เขียนอ่านข้ามบางส่วนที่พอจะเคยรู้มาบ้างแล้ว) ในเล่ม 2 และเล่ม 3 นี่เองที่ทำให้ผู้เขียนมีความสบายใจ ซึ่งถ้าบุคคลที่มีความกังวลต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่าง 4–5 ท่านข้างต้น ได้อ่านหนังสือของพี่ติ๋มจนจบเหมือนกันนี้ ก็คงจะคลายกังวลไปได้ “พอสมควร”
ในเล่ม 2 และ 3 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ตั้งแต่ที่ขึ้นครองราชย์จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยพี่ติ๋มเชื่อมโยงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงมีส่วนในการรักษาและพัฒนาประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัยและ เจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้อย่างไร โดยที่ไม่ได้เขียนในแบบ “กฤษฎาภินิหาร” หรือแนวของ “ผู้วิเศษ” ที่มีให้อ่านอยู่ทั่วๆ ไป แต่พี่ติ๋มเขียนให้เห็นว่า แท้จริงพระองค์นั้น “ทรงติดดิน” อย่างยิ่ง และด้วยความติดดินนี่เองจึงทำให้พระองค์เข้าไปอยู่ “ในหัวใจ” ของประชาชน จนเกิดภาพ “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ที่ไม่มีให้เห็นบนที่ใดในโลก
ใครที่อ่านเพียงเล่ม 1 อาจจะรู้สึกสะเทือนใจที่ได้รู้ว่า พระมหากษัตริย์ของเรารวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ได้ถูกคนบางคนบางกลุ่ม “กระทำย่ำยี” เยี่ยงไร หลายองค์ต้องอพยพหนีภัยไปอยู่ต่างประเทศ ครอบครัวต้องอยู่กินอย่างอดอยาก บางองค์ถูกจับเข้าคุก หรือไม่ก็ถูกกลั่นแกล้งรังแกนานาประการ ในส่วนของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ก็ทรงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งพี่ติ๋มได้เอาพระราชหัตถเลขาที่ทรง “ระบายความทุกข์” มาให้อ่านกันชัดๆ อย่างที่ถ้าใครมีญาติพี่น้องที่ต้องมาพบกับชะตากรรมอย่างนั้นคงจะกลั้นน้ำตา ไว้ไม่ได้
หลายท่านคงไม่ทราบหรอกว่า ประเทศไทยเกือบจะไม่ได้มีพระมหากษัตริย์ที่สุดประเสริฐอย่าง “ในหลวงภูมิพล” พระองค์นี้ เพราะหลังจากที่พระเชษฐาถูกลอบปลงพระชนม์ก็มีเสียงคัดค้านด้วยความห่วงใยจาก ผู้คนทุกระดับ แต่ด้วย “ขัตติยมานะ” (ที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยสรุปว่า คือ “ความรักของพระเจ้าแผ่นดินที่มีต่อประชาชนของพระองค์”) จึงทำให้พระองค์ต้อง “ลุกขึ้น” (ที่จริงต้อง “ลงมา” เพราะคนไทยเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้เหนือหัว แต่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงลุกขึ้นมารับราชภาระแม้จะถูกกระทำย่ำยีดัง กล่าว) และร่วมกับประชาชนของพระองค์กอบกู้ทุกสิ่งทุกอย่างจนได้มาอยู่กันเป็น “สังคมไทย” ในทุกวันนี้
ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผู้เขียนได้ค้นพบความจริงทางการเมืองของไทยว่า “ถ้าไม่มีพระเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยและสังคมไทยคงจะไม่อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ รวมทั้งอนาคตข้างหน้านั้นด้วย” โดยที่ “ความอยู่รอดของประเทศไทย” ก็จะหมายถึงการมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้ได้มีส่วนอันสำคัญในการเสริมสร้าง ส่วน “ความอยู่รอดของสังคมไทย” ก็จะหมายถึงชีวิตแบบไทยอันสงบสุขและเอื้ออาทรต่อกันและกัน ที่พระองค์ก็ช่วยทำให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่
ใครที่บังอาจจะมาลบล้างฐานะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ก็ขอให้ลอง คิดดู ขนาดผู้ยิ่งใหญ่ในคณะราษฎรบางคนคิดจะทำลายก็ทำลายไม่ได้ ต้องมีอันเป็นไปต่างๆ นานา
ไม่เห็นมีใครตายดีสักคน!