จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : รักษ์ มนตรี mo_tri@hotmail.com
"เวลานี้คนไทยเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายแตกต่างกัน และการเอาคนไว้ในอำนาจ ก็ต้องถามว่าเอาไว้ทำไม การขังเอาไว้เพราะเขามีความผิด
มันอาจจะไม่ใช่คำตอบทางวิชาการ" คุณคณิต ณ นคร ประธานกรรมการ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พยายามอธิบายให้ผมและเพื่อนๆ สื่อคนอื่นๆ ให้เข้าใจแนวทางการทำงานของ คอป. ต่อจากนี้ไป
แม้จะไม่มี "ความชัดเจน" ในประเด็นที่ว่า ใช้หลักวิชาการแก้ปัญหาคืออะไร เพราะคุณคณิต ได้ขอเวลาอีก 2 วันจะแจกแจงให้ทราบ
คุณคณิต ที่ผมรู้จักตั้งแต่เป็นรองอัยการสูงสุด เป็นอัยการสูงสุด เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.2540) เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย และเป็นประธาน คอป.ก็ยังเป็นนักกฎหมายผู้ลุ่มลึก ที่พยายามอธิบายข้อกฎหมายให้เข้าใจง่ายงาม
แต่คุณคณิต ที่ผมคิดว่าเปลี่ยนไปคือ "หัวโขน"
"หัวโขน" ที่จากการเป็นอัยการคือการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด
"หัวโขน" ที่จากการเป็นประธาน คอป. กำลังใช้หลักวิชาการมาอธิบายข้อกฎหมายและความรู้สึกของผู้คน
ความรู้สึกที่ถามกลับไปยังคุณคณิต ว่า ทำไมการที่คนที่มาชุมนุมทางการเมือง อาจจะเพราะอุดมการณ์ร่วมกัน หรือมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน หรือมีอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกัน เมื่อกระทำความผิดแล้วความรับผิดชอบร่วมกันในทางกฎหมายจะมีหรือไม่
หากพวกเขาเข้าใจคำว่า "ตัวการร่วม" หรือคำว่า "ผู้ร่วมกระทำความผิด" "ผมสมคบคิดกระทำความผิด" พวกเขา 4 คนในเรือนจำขอนแก่น จะเข้าใจได้ในทันทีว่าทำไมเขาต้องโดนรวบเข้าห้องขัง
ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะจากการที่คุณคณิต และกรรมการ คอป. อย่างคุณหมอรณชัย คงสกนธ์ ได้นำทีมคณะทำงาน ลงพื้นที่เจาะลึกในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง โดยได้เข้าเยี่ยมนักโทษที่ถูกจับกุมในจังหวัดขอนแก่น พบนักโทษชายถึง 4 ราย ซึ่งทุกรายมีข้อหาวางเพลิงสถานที่ราชการ และยังไม่มีนักโทษรายใดได้รับการประกันตัว แม้จะมีความพยายามจากการเข้ายื่นประกันตัวหลายครั้ง
ในประเด็นนี้ผมได้ตั้งคำถามว่า "การที่ไม่มีนักโทษรายใดได้รับการ ประกันตัว แม้จะมีความพยายามจากการเข้ายื่นประกันตัวหลายครั้ง นั้น เป็นเพราะหลักทรัพย์ที่เขายื่นต่อศาล และเหตุผลที่ยื่นขอประกันตัวต่อศาลไม่เพียงพอใช่หรือไม่"
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะการที่ศาลจะจองจำใครก็ตาม ย่อมพิจารณาโดยข้อหาและหลักฐาน มิได้ตั้งมั่นอยู่บนอคติส่วนตัวแต่อย่างใด
เพราะฉะนั้น ผมจึงตั้งคำถามต่อไปว่า "การที่ คอป. พยายามจะใช้หลักวิชาการมาอธิบายข้อกฎหมาย ในเรื่องการคุมขังผู้ต้องหา จำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ศาลทราบหรือไม่ เพราะศาลท่านเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ"
ประเด็นนี้คุณคณิต ตอบว่า "เราสามารถเสนอข้อมูลไปสู่ศาลได้เพื่อประกอบการพิจารณา และหวังว่าจะได้รับการตอบสนองในทางบวก เพราะจะเป็นแนวทางที่นำความสงบมาสู่สังคม"
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของข้อเสนอ คอป. 2 ข้อเพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาต่อภาครัฐ และหวังจะให้ส่งผ่านไปถึงศาลด้วยก็คือ
ข้อที่ 1 รัฐบาลควรใช้แนวความคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ เกิดขึ้น โดยเฉพาะ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ถูกคุมขังในเหตุการณ์ความรุนแรงห้วงเดือน เมษายน - พฤษภาคม 2553
ข้อที่ 2 กรณีที่ผู้ถูกคุมขัง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความเดือดร้อนทางด้านจิตใจ นอกจากสภาพทางกายที่ถูกคุมขัง
จากข้อมูล คอป. ขณะนี้มีผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ถูกคุมขัง 252 ราย ซึ่ง คปอ. ได้รับความร่วมมือจากกรมสุขภาพจิต เข้าไปเยียวยาทางด้านจิตใจ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ผมยังเห็นว่า คอป.ตั้งใจทำงานดีซึ่งผมสนับสนุน แต่ต้องยืนอยู่บนหลักการ ว่าประเทศต้องปกครองด้วยระบบนิติรัฐ เสรีภาพ ย่อมจะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้