จาก โพสต์ทูเดย์
ชวนเที่ยวตลาดเช้า ตลาดบ่าย ตลาดนัดมาเยอะแล้ว กลับลืมเรื่องชวนดูของใช้แถวตลาด
เรื่อง/ภาพ สุธน สุขพิศิษฐ์
ชวนเที่ยวตลาดเช้า ตลาดบ่าย ตลาดนัดมาเยอะแล้ว กลับลืมเรื่องชวนดูของใช้แถวตลาด เป็นเรื่องสนุกน่าสนใจไม่แพ้ อาหารสด อาหารแห้ง ผักหญ้าต่างๆ นอกจากจะเห็นอะไรแปลกๆ แล้ว ของใช้นั้นยังจะบอกเรื่องราว พฤติกรรมการใช้ของท้องถิ่นนั้นๆ อีกด้วย ยิ่งดูดีๆ จะเห็นความลึกล้ำในความคิด การแก้ปัญหา การดัดแปลง ให้เป็นไปและเหมาะสมกับความต้องการ และที่สำคัญอีกอย่าง บางครั้งเห็นของใช้ที่ว่าแล้วยังนึกไม่ออกว่า จะเอามาทำอะไร ไม่รู้จะใช้เมื่อไหร่ เกิดตัดสินใจซื้อมา วันหนึ่งเกิดเอาขึ้นมาใช้แล้วถูกใจก็ถือว่าเป็นความโชคดี รู้สึกคุ้มค่าดีใจที่ซื้อมา ก็จะสนุกตรงนี้แหละ
ครั้งนี้จะเล่าไปเรื่อยๆ ครับว่า ที่ผ่านมาได้เห็นอะไร แล้วได้อะไรจากที่เห็นบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในเมืองไทยอย่างเดียว มีที่อื่นปนเปอยู่ด้วย
เมื่อไม่นานนี้ไปกินร้านอาหารทะเลตรงใกล้ปึกเตียน รู้สึกว่าชื่อร้านลูกหวานอะไรทำนองนั้น ลำพังอาหารก็เฉยๆ แต่ตอนไปคิดตังค์ค่าอาหารที่เคาน์เตอร์ เขามีค้อนตอกก้ามปูขายอยู่ในตะกร้า เป็นท่อนไม้กลมๆ เล็กๆ ตัดเป็นท่อนยาวไม่มากนัก เอาตะเกียบไม้ไผ่เจาะเสียบทำเป็นด้าม ถึงตัวท่อนไม้จะไม่หนักมาก แต่เมื่อจับด้ามให้ยาวหน่อยก็มีน้ำหนักตอกก้ามปูได้ถนัด ตอกค่อยๆ ก้ามปูก็แตกแล้ว ชอบความคิดของเขา ที่สำคัญคืออันละ 20 บาทเท่านั้น ซื้อไปฝากใครก็ไม่กระเทือนกระเป๋า
เคยไปที่ตลาดโพธิ์ทองที่หนองคาย เจอเตาถ่านแต่ใช้ถังแก๊สที่เสียแล้ว มาตัดครึ่งแล้วทำเป็นเตาถ่าน มีรูที่ให้ขี้เถ้าหล่นเป็นเหล็กหล่อ นี่ก็เหมือนกันว่ารู้จักใช้ของที่เสียแล้วกลับมามีประโยชน์ใช้สอยใหม่ แล้วเตาที่ว่านี้คงใช้ไปชั่วกัปชั่วกัลป์
เรื่องเตานี่ก็เหมือนกันผมไปเห็นเตาถ่านที่ประจวบคีรีขันธ์ รูปร่างเหมือนเตาถ่านทั่วไป แต่ตรงที่ใส่ไฟนั้นเขาทำเป็นลิ้นสังกะสียื่นออกมายาวมาก ซึ่งที่ทำออกมายาวๆ นั้นก็มีเหตุผล คือแถวนั้นเขาใช้ทางมะพร้าวแห้งๆ มาเป็นเชื้อไฟแทนฟืน เมื่อทางมะพร้าวมันยาวกว่าฟืน เขาจึงทำลิ้นออกมายาวๆ เพื่อรับก้านทางมะพร้าวให้พอดี
เรื่องเตายังมีอีกครับ ผมเคยเห็นเตาในครัวไทยในสมัยโบราณ ที่เขาก่อเป็นแท่นหรือกระบะยกวางบนพื้นเรือน แท่นหรือกระบะยกที่ว่านี้อัดแน่นด้วยดินเหนียว บนแท่นก็ตั้งเตาดินเผา โค้งกลมๆ มีช่องใส่ฟืนที่ปั้นเป็นดินแต่ออกมาจากเตาเป็นเนื้อเดียวกัน ช่องใส่ฟืนนี้จะบานออกกว้างหน่อย คนทั่วไปจะเรียกว่าเตาเชิงกราน เพราะรูปร่างเหมือนเชิงกรานคน
เตาแบบนี้หายสาบสูญไปนานแล้ว เมื่อผมไปเขมร ที่เมืองอะไรจำไม่ได้แล้ว รู้ว่าเป็นบ้านนอกมาก มีเกวียนบรรทุกเอาเตาเชิงกรานนี้วิ่งออกขายให้กับชาวบ้านตามหมู่บ้าน เห็นแล้วอยากได้ รู้ว่าคงไม่ได้ใช้แน่ และห่วงว่ามันจะแตกเสียก่อน ก่อนที่จะมาถึงเมืองไทย เลยไม่ได้ซื้อ ยังเสียดายอยู่อย่างน้อยเอามาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เครื่องครัวไทยได้
แต่ก็ดีว่าที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จย่า ที่ซอยวัดอนงคาราม ที่มีห้องจัดแสดงเครื่องครัวไทยสมัยโบราณ เอาเตาเชิงกรานตั้งเป็นส่วนประกอบของครัวไฟโบราณแบบไทย นี่แหละครับบางอย่างไม่ได้ใช้แต่ก็มีคุณค่าในทางเรียนรู้
เครื่องครัวไทยมีหลายยุคสมัย สมัยหนึ่งนิยมเครื่องเคลือบ มีทั้งจานสังกะสีเคลือบที่เป็นจานสีขาวขอบจานสีน้ำเงิน หม้อเคลือบที่สมัยก่อนจะเรียกว่าหม้ออวย เป็นหม้อสีเขียวบ้าง สีครีมบ้าง มีหูหิ้ว หม้ออวยนี้ใช้งานได้สารพัด เอาไปซื้อก๋วยเตี๋ยวก็ได้ ใส่แกงไปวัดก็ได้ ใส่น้ำมันหมูเจียวก็ได้ แม้กระทั่งปิ่นโตและหม้อข้าว 2 หู สมัยก่อนเป็นเครื่องเคลือบทั้งนั้น
ผมไปเที่ยวตลาด 100 ปีที่ลาดกระบัง เจอร้านขายเครื่องครัวแบบเครื่องเคลือบ มีหม้อแขกที่เป็นหม้อกลมๆ กว้างๆ มีฝาปิด ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ซื้อมาก่อน ใช้เมื่อไหร่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วไม่ใช่ซื้อมาแต่หม้อแขก ยังซื้อหม้อขี้มาด้วย หม้อขี้เป็นหม้อหูเดียวมีฝาปิด กะว่าวันดีคืนดีทำแกงเผ็ดไปฝากเพื่อนฝรั่ง ใส่หม้อขี้ไป สนุกดี ก็ไม่เห็นเป็นอะไร หม้อก็คือหม้อ ไปติดใจเรื่องชื่อทำไม
ตามตลาดบ้านนอกซึ่งจะมีร้านขายของใช้อยู่ด้วยทุกตลาด ซึ่งจะขายพวกหม้อ ถ้วย จาน ชาม ไห หวดนึ่งข้าวเหนียว ครก สาก เตาถ่าน กระบวย ตะหลิว ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับพื้นที่นั้นๆ อย่างที่โรงเกลือ อรัญประเทศ สมัยก่อนมีของเวียดนามเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว กลับเป็นของไทยนี่เองและเป็นของที่คุณภาพไม่ค่อยดี ก็เพราะคนพื้นที่เขาใช้ของง่ายๆ ถูกๆ
เดินดูเหมือนกันแต่ไม่น่าสนใจ
ก็ เหมือนไปที่แม่สอดที่ตลาดเทศบาล ตลาดใหญ่ของแม่สอด ชื่อเป็นตลาดเทศบาลของไทย แต่ของใช้ในครัวเป็นแบบของใช้สำหรับชาวพม่าทั้งสิ้น มีหม้อแขกตั้งแต่ใบมหึมาจนถึงเล็กกระจิ๋ว เป็นหม้ออะลูมิเนียม แต่คุณภาพอะลูมิเนียมไม่ดี บางมากและเนื้อก็หยาบๆ ซึ่งก็เข้าใจว่าชาวพม่าที่อยู่แถวแม่สอดนั้น เป็นคนไม่ค่อยมีสตางค์ เอาของดีไปขายก็ไม่มีใครซื้อ
แต่ผมกลับไปได้ที่ขูดมะพร้าว เป็นด้ามสังกะสีกลมๆ ยาวๆ ตรงปลายเชื่อมแผ่นรูกลมๆ เล็กๆ ไว้สามรู เวลาขูดมะพร้าวจะออกเป็นเส้นกลมยาวและออกพร้อมกัน 3 เส้น
ตอนแรกยังไม่ได้ใช้ครับ ตอนหลังกินมะพร้าวอ่อนบ่อย เทน้ำใส่ถ้วยแล้วก็ขูดเนื้อออกเป็นเส้นใส่สวยมาก กลายเป็นน้ำมะพร้าวมีเนื้อมะพร้าวหรูๆ อยู่ด้วย ทำให้นึกถึงตอนที่ไปบาหลี ไปอยู่เกสต์เฮาส์ชาวบ้านที่อูบุด เช้าเขาทำอาหารเช้ามาเป็นแพนเค้กขูดมะพร้าวอ่อนเป็นเส้นๆ โรยบนหน้าแพนเค้ก แล้วมีน้ำเชื่อมราดมาหน่อย ทั้งอร่อยและเลิศในเรื่องรูปร่างหน้าตา
เดี๋ยวนี้เจ้าเครื่องมือขูดมะพร้าวนี่เป็นสิ่งที่พอใจ คุ้มค่าที่สุด เพราะได้ใช้บ่อย แล้วนึกถึงว่าต่อไปคงไม่ค่อยได้ไปแม่สอดอีก ถึงไปก็จำไม่ได้ว่าร้านที่ขายอยู่ตรงไหน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อใครไปเดินเที่ยวตลาดบ้านนอกที่ไกลๆ ลองส่องดูของใช้บ้างก็ดีครับ เผื่อเจออะไรที่นึกไม่ถึง คุ้มค่าทั้งทางราคาและทางจิตใจครับ