สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอ เปิดงานวิจัย เหลือง-แดง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ทีดีอาร์ไอ ยกงานวิจัยกลุ่มคนเสื้อเหลือง-แดง มาจากทั้งคนยากจนและคนรวยคลุกเคล้ากันไป คนกทม.หนักไปทางเสื้อเหลือง ส่วนแม่บ้านหนุนเสื้อแดง
 ดร.อัมมาร สยามวาลา จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอรายงานวิเคราะห์เชิงสถิติ ประเด็น "ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง บนพื้นฐานเศรษฐกิจเชิงสังคม" ผลสรุปของงานวิจัยนี้ สรุปออกมาได้ว่า การชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดงที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากสงครามชนชั้น นั้นหมายความว่า ผู้เข้าร่วมทั้งสองกลุ่มมาจากทั้งคนยากจนและคนรวยคลุกเคล้ากันไป

 "ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ผู้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นประชาชนที่มีฐานะ ยากจน อาศัยอยู่ในชนบท และอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอย่างที่มีความเข้าใจกันมาโดยตลอด ทั้งในหมู่คนไทยด้วยกันเอง และในสายตาสื่อโลก"
 ดร.อัมมาร นำวิจัยมากล่าวถึงในงานเลี้ยงอาหารค่ำศิษย์เก่าไอเซนฮาวน์ ที่สมาคมราชกรีฑาสโมสร โปโลคลับ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

 ข้อสรุปงานวิจัยดังกล่าว เพื่อแย้งมุมมอง โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่มักนำเสนอข่าว โดยอาศัยการสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมประท้วงเสื้อแดง พร้อมทั้งสรุปว่า ผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่เหล่านี้ เป็นคนในชนบท มีฐานะยากจน และมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ พร้อมกันนี้ ยังเกิดแนวความคิดว่า กลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งสามารถถึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนได้มากกว่า และเป็นกลุ่มที่ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชน
 ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอได้ นำประเด็นต่างๆ ซึ่งมีความซับซ้อนพอสมควร โดยยึดตามผลสำรวจเชิงลึก และได้บทสรุปเบื้องต้นว่า ไม่มีข้อแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเกี่ยวกับภูมิหลังทางสังคมของประชาชน ที่สนับสนุนแนวความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง โดยย้ำว่าในการนำเสนอผลสำรวจเรื่องนี้ ทีดีอาร์ไอไม่ ได้ศึกษาลงลึกในส่วนของตัวผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งมีประมาณ 1 หรือ 2% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ศึกษาประชาชนจำนวนมาก ที่แสดงออกว่า ให้สนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว ในการชุมนุมประท้วงแต่ละครั้ง

 รายงานสำรวจนี้ ใช้ข้อมูลเดิม ที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้มีความทันสมัย โดยใช้วิธีการที่เป็นกลาง ไม่ลำเอียงหรือมีอคติ ในการจำแนกแยกแยะผู้ตอบแบบสำรวจออกเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มคนเสื้อเหลือง ก่อนจะดำเนินการต่อไป เพื่อค้นหาว่าอะไร คือ ภูมิหลังทางด้านเศรษฐกิจเชิงสังคม ที่ทำให้ประชาชนเลือกที่จะสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือเลือกที่จะไม่สนับสนุนเสื้อสีใดเลย
 ในส่วนของข้อมูล ที่นำมาใช้จัดทำรายงานสำรวจชิ้นนี้ และชิ้นก่อนหน้านี้นั้น มาจากผลสำรวจทัศนะทางการเมือง ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ใช้แบบสอบถามของทีดีอาร์ไอ โดยจุดประสงค์ของการสำรวจ คือ หาคำตอบจากคำถามกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง และส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในวงกว้าง

 แบบสอบถามนี้ ได้ถูกนำไปเสริมกับผลสำรวจเศรษฐกิจเชิงสังคมของสำนักงานสถิติที่จัดทำเป็น ประจำทุกปี และถูกนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างย่อยของสำนักงานสถิติ จำนวน 4,097 ครัวเรือน ในเดือน ส.ค.และ ก.ย. 2552 (หลังจากเกิดเหตุนองเลือดช่วงสงกรานต์ปี 2552 ไม่กี่เดือน และก่อนจะถึงช่วงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2553 ประมาณครึ่งปี) พบว่าข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ได้มีประมาณ 3,655 ครัวเรือน
 ภาวะการเชื่อมโยงกันดังกล่าว เปิดโอกาสให้ทีดีอาร์ไอ โยงคำตอบที่ได้เข้ากับคำถามที่มีอยู่ที่ว่า "อะไรคือสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันในไทย" จากนั้นจึงจำแนกข้อมูลที่ได้ออกเป็นสามกลุ่มการเมือง คือ กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มคนที่ไม่เลือกเสื้อสีใดเลย

 ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์เชิงสถิติชิ้นนี้ บ่งชี้ถึงความหลากหลายทางด้านเศรษฐกิจเชิงสังคม ที่ส่งผลกระทบบางอย่างต่อปัจเจกชน ที่มีจุดยืนทางการเมืองว่า เป็นพวกเสื้อเหลือง เสื้อแดง และพวกไม่เลือกสนับสนุนสีใดเลย ...ดังนั้น ฐานะทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้เกี่ยวว่าคนจนหรือรวย จะสนับสนุนสีใดสีหนึ่ง เพราะผลสำรวจสรุปว่าแฝงอยู่ในทุกกลุ่มการเมือง
 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ของอายุ จะเห็นว่า คนสูงอายุ มีแนวโน้มที่จะไม่เลือกสนับสนุนทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ส่วนคนหนุ่มสาว ที่เป็นพวกเสื้อเหลืองนั้น มีจำนวนเพียงเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มคนสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงมีทุกช่วงอายุ

 สำหรับประเด็น "ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี-ระดับ" นั้น มีแนวโน้มชัดเจนว่า จะเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง เพราะฉะนั้น คนกรุงเทพฯ (ทุกระดับชั้นรายได้) มีแนวโน้มที่จะเป็นคนเสื้อเหลืองเช่นเดียวกับคนที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนคนจน มีแนวโน้มน้อยลงที่จะสนับสนุนทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่ เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ที่เห็นกลุ่มผู้สนับสนุนเสื้อแดง ไม่มีความสัมพันธ์กับรายได้ กล่าวคือ ไม่ว่ารวยหรือจนมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มสนับสนุนเสื้อแดงได้พอๆ กัน


 ส่วนประเด็น "ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี-การเปลี่ยนแปลง" ได้มีการสอบถามในผลสำรวจเพิ่มเติมว่า ผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่า ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีคำตอบที่เป็นไปได้ 5 คำตอบ สำหรับคำถามนี้ คือ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง เลวร้ายลง และเลวร้ายที่สุด

 ผลสำรวจชิ้นนี้ พบว่าการเปลี่ยนแปลงในสถานะภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง โดยกลุ่มคนที่รู้สึกว่าสภาพความเป็นอยู่ปรับปรุงดีขึ้นมาก มีแนวโน้มน้อยที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะกลุ่มคนที่มีสภาพทางเศรษฐกิจเลวร้ายลง มีแนวโน้มมากขึ้น ที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ที่น่าแปลกใจ ก็คือ กลุ่มคนที่มีสภาพทางเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุด ก็มีแนวโน้มมากขึ้น ที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อเหลือง
 สำหรับประเด็น "อาชีพและสถานะแรงงาน" พบว่าในแง่ของสถานภาพด้านอาชีพนั้น ไม่ว่าผู้ตอบแบบสอบถาม จะทำอาชีพอิสระ เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นพนักงาน ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง แต่อาชีพแม่บ้าน มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยเหตุผลใดนั้น ทีดีอาร์ไอ ยังไม่สามารถอธิบายได้ โดยที่ผ่านมา ทางทีดีอาร์ไอ ได้พยายามทดสอบผลกระทบจากเพศภายในกลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่ม แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

 ส่วนหัวข้อ "พื้นที่หรือแหล่งที่อยู่" ปรากฏว่า ยกเว้นชาวกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อเหลือง และมีความเป็นไปได้น้อยที่จะไม่เลือกสนับสนุนกลุ่มเสื้อสีใดเลยนั้น มีการสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองในระดับพื้นที่หรือแหล่งที่ อยู่น้อยมาก
 อย่างไรก็ตาม ผลวิเคราะห์เชิงสถิติชิ้นนี้ ให้ผลในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการจำแนกกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า เป็นคนจนถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง โดยทั่วไปมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจเชิงสังคมไม่กี่แง่มุม ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ข้อสรุปที่ดูเหมือนจะขัดกับความเชื่อที่มีอยู่ คือ กลุ่มคนที่เชื่อว่าไม่สนับสนุนกลุ่มเสื้อสีใดเลยนั้น เป็นกลุ่มคนที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจเชิงสังคมแข็งแกร่ง เป็นกลุ่มคนสูงอายุ มีฐานะยากจน และมีความเป็นไปได้น้อย ที่จะเป็นคนกรุงเทพฯ

 ผลสำรวจของทีดีอาร์ไอ ซึ่งได้จากการตั้งคำถามแบบปลายเปิด สามารถสรุปเป็นคำถามได้ 16 คำถาม พอประมวลภาพรวมได้ดังนี้ คือ ในส่วนของคำถามแรก ที่ว่านักการเมืองไทยไม่สามารถจัดสรรผลประโยชน์ได้ลงตัวนั้น ผู้ตอบกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบคำถามนี้มากที่สุดจำนวน 2,936 คน รองลงมา คือ กลุ่มที่ 1 ที่ไม่ใช่ผู้สนับสนุนทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองตอบ 1,924 คน ส่วนคำถามที่ว่า คนไทยแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่มีความตั้งใจจริงที่จะประนีประนอมกันนั้น กลุ่มที่ไม่ได้สนับสนุนทั้งเสื้อเหลืองและแดง ตอบคำถามนี้ในสัดส่วนมากสุด คือ  3,626 คน รองลงมาถือกลุ่มสนับสนุนเสื้อแดงที่ตอบ 190 คน ส่วนกลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบ 102 คน

 สำหรับคำถามเปิดที่ 3 ที่ว่า รัฐบาลและพรรคการเมืองมีพฤติกรรมคอร์รัปชันมากเกินไป กลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบมากสุด 1,575 คน ส่วนคำถามเปิดที่ว่า มีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น กลุ่มตอบแบบสอบถามที่สนับสนุนเสื้อแดง ตอบมากสุด คือ 536 คน กลุ่มไม่สนับสนุนทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ตอบ 315 คน ส่วนกลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบ 222 คน
 ส่วนคำถามที่ว่า กลุ่มผู้ประท้วงไม่เคารพกฎหมาย กลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง ตอบมากสุด 363 คน กลุ่มไม่สนับสนุนเสื้อสีใดเลย ตอบ 328 คน ส่วนกลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบ 264 คน
 และสำหรับคำถามที่ว่า ประชาชนในประเทศได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน หรือมีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานในสังคมไทยนั้น กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดง ตอบมากที่สุด จำนวน 429 คน รองลงมา คือ กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อเหลืองตอบ 275 คน และกลุ่มที่ไม่สนับสนุนทั้งเสื้อเหลืองและแดง ตอบ 250 คน ส่วนคำถามที่ว่า มีความเข้าใจทางการเมืองอย่างไม่เท่าเทียมกันในประเทศไทยนั้น กลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง ตอบมากที่สุด 439 คน รองลงมา คือ กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อเหลือง 226 คน
 ส่วนคำถามที่ว่า ประชาชนขายเสียงและนักการเมืองไทยซื้อเสียง กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดง ตอบมากสุด 313 คน รองลงมา คือ กลุ่มที่ไม่สนับสนุนทั้งเสื้อเหลืองและแดง ตอบ 263 คน และกลุ่มสนับสนุนคนเสื้อเหลือง ตอบ 217 คน และสำหรับคำถามที่ว่า มีช่องว่างระหว่างคนจน คนรวย คนชนบทและคนเมืองนั้น กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดง ตอบมากที่สุด 222 คน รองลงมา คือ กลุ่มไม่สนับสนุนทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองตอบ 189 คน ขณะที่กลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลืองตอบ 136 คน

 นอกจากนี้ คำถามเปิดที่ว่า สื่อไม่ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและทำหน้าที่อย่างมีอคตินั้น กลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง ตอบมากสุด 201 คน รองลงมา คือ กลุ่มไม่สนับสนุนทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองที่ตอบ 90 คน ส่วนกลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบ 66 คน ส่วนคำถามเปิดที่ว่า รัฐธรรมนูญของไทยยังมีช่องโหว่นั้น กลุ่มสนับสนุนพวกเสื้อแดง ตอบมากสุด 166 คน ส่วนกลุ่มสนับสนุนพวกเสื้อเหลือง ตอบ 107 คน
 คำถามเปิดว่า องค์กรอิสระประสบความล้มเหลวในการทำหน้าที่ กลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง ตอบมากสุด 72 คน กลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบ 55 คน กลุ่มไม่สนับสนุนทั้งเสื้อแดงและเหลืองตอบ 46 คน
 ส่วนคำถาม เปิดที่ว่ากระบวนการยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยมากไป กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่สนับสนุนเสื้อแดง ตอบมากที่สุด 42 คน กลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง ตอบ 19 คน ส่วนกลุ่มไม่สนับสนุนทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ตอบเพียง 6 คน

Tags : ทีดีอาร์ไอ เปิดงานวิจัย เหลือง-แดง

view