สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สัญญาณอันตราย-นักเรียนไทยมีความรู้แบบใช้งานได้น้อยลง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : รศ.วิทยากร เชียงกูล


โครงการประเมินผลความรู้นักเรียนระหว่างชาติ (ชื่อย่อว่า PISA) ที่จัดโดยองค์กรเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการศึกษา (OECD)
เป็น โครงการประเมินผลความรู้แบบใช้งานได้หรือความรู้เรื่องของนักเรียนวัย 15 ปี ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศพัฒนาและประเทศรายได้ ปานกลางมากที่สุดในเวลานี้ ผลการทดสอบที่ทำทุก 3 ปีเป็นเหมือนนาฬิกาปลุกหรือการส่งสัญญาณเตือนภัยที่ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐที่นักเรียนของตนสอบได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าที่คาดต้องเร่งปฏิรูป การเรียนการสอนกันอย่างขนานใหญ่


ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการทดสอบนี้มาตั้งแต่ต้น คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) ถึงครั้งล่าสุดปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) แต่ทั้งรัฐบาล ชนชั้นนำ สื่อมวลชน นักการศึกษา ครูอาจารย์ ผู้ปกครองเอง รู้เรื่องนี้และสนใจเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่นักเรียนไทยได้ลำดับที่ต่ำมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และการทดสอบครั้งล่าสุดนี้ไทยได้ลำดับต่ำลงจากเดิมอีก ขณะที่บางประเทศได้ลำดับดีขึ้น


การทดสอบความรู้เรื่องใน 3 ด้านที่สำคัญไม่ได้ประเมินความรู้แบบท่องจำภายในกรอบหลักสูตร แต่เป็นการประเมินด้านศักยภาพที่ใช้ความรู้และทักษะที่ได้เรียนไปใช้ในชีวิต จริง คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ในอนาคตได้ การอ่านรู้เรื่องจับใจความได้คือ พื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ทุกสาขา การรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน คือการฝึกคิดอย่างเป็นเหตุผลเพื่อที่จะแก้ปัญหากับตัวได้ดี ดังนั้นการรู้หรือไม่รู้ 3 วิชานี้มากน้อยแค่ไหนจึงเป็นการประเมินที่สะท้อนศักยภาพของคุณภาพของคนที่จะ ไปพัฒนาประเทศในอนาคต


ที่เลือกนักเรียนอายุ 15 ปี เพราะถือว่าเป็นวัยที่ได้เรียนการศึกษาภาคบังคับมาราว 9 ปี ควรจะมีความรู้พื้นฐานที่ใช้งานได้พอวัดได้แล้ว การทดสอบใช้วิธีแปลเป็นภาษาแม่ของนักเรียนในแต่ละประเทศ ดังนั้นวิชาการอ่านสำหรับเด็กไทยก็คือการอ่านภาษาไทย แต่เป็นการอ่านแบบจับใจความและวิเคราะห์ได้ ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ และทั้ง 3 วิชาที่ใช้ทดสอบจะวัดผลออกมาเป็นระดับ 1-6 คือ 1 ระดับต่ำสุด 2 ระดับพอใช้ยิ่งระดับสูงขึ้นถึง 5-6 ยิ่งถือว่าใช้งานได้ดี


การทดสอบแต่ละครั้งจะเน้นแต่ละวิชาแตกต่างกันไป สำหรับครั้งล่าสุดเน้นเรื่องการอ่าน แต่ก็รวมวิทยาศาสตร์ 20% คณิตศาสตร์ 20% นักเรียนไทยได้คะแนนเฉลี่ยลงต่ำลงจากการทดสอบครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 2000 ทุกวิชา คะแนนเฉลี่ยการอ่านและคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทย ได้อันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนวิทยาศาสตร์ ไทยได้อันดับที่ 49 คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนไทยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม OECD มาก และต่ำกว่าประเทศเอเชียด้วยกันอย่างเซี่ยงไฮ้ของจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ประเทศในยุโรปตะวันออกกลาง และ ละตินอเมริกา หลายประเทศ


ยิ่งถ้าพิจารณาจากระดับความรู้เรื่องในการอ่านด้วยแล้ว นักเรียนไทยที่สอบวิชาการอ่านได้ระดับสูงสุดคือระดับ 5-6 มีน้อยมากคือเพียง 0.3% นักเรียนไทยที่เข้าสอบและอยู่ระดับ 5 ทั้งหมด ถ้าพิจารณาในแง่นี้ไทยจะอยู่อันดับเกือบท้ายคืออยู่อันดับที่ 59 นักเรียนไทยที่สอบการอ่านได้ระดับ 1 และระดับ 2 มีถึง 43% เพิ่มจากการทดสอบเมื่อปี ค.ศ. 2000 ซึ่งก็สูงอยู่แล้วที่ 37% วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนไทยก็ได้ระดับ 1 มากกว่าครึ่งหนึ่ง และวิทยาศาสตร์นักเรียนไทยได้ระดับ 1 เกือบครึ่งของนักเรียนไทยที่เข้าสอบ


ในขณะที่นักเรียนไทยสอบได้คะแนนเฉลี่ยและลำดับตกต่ำลง นักเรียนในประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ โปแลนด์ ได้คะแนนสูงขึ้นอย่างเด่นชัด เกาหลีใต้ได้คะแนนเฉลี่ยและลำดับค่อนข้างสูงตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่เขายังมุ่งปฏิรูปตัวนักเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้อีก โปแลนด์ 10 ปีที่แล้วยังล้าหลัง แต่ตอนนี้ได้ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการเรียนการสอนอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้ได้คะแนนเฉลี่ยและระดับสูงขึ้นมาก ประเทศที่ได้คะแนนสูงขึ้นมีทั้งอิสราเอล อิตาลี โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล ชิลี เม็กซิโก ตุรกี


ประเทศที่นักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจปฏิรูปของผู้นำ วัฒนธรรมการเรียนรู้ ความตั้งใจ คุณภาพของครู กระบวนการเรียนการสอนที่ได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้นมากกว่า เช่นรัฐบาลเกาหลีใต้ รัฐบาลให้เงินอุดหนุนการติวนักเรียนหลังเลิกเรียนทำให้คนทั่วไปไม่เฉพาะคนจน มีโอกาสได้เรียนดีขึ้น รวมทั้งมีการช่วยเหลือเด็กอ่อนเป็นพิเศษ เช่น เด็กที่สอบคณิตศาสตร์ไม่ผ่าน รัฐบาลจะช่วยให้ครูที่เก่งไปช่วยติวให้ โดยรัฐบาลเน้นการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถ มีแรงจูงใจการทำงานในเรื่องความภูมิใจและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน


หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาเน้นกระบวนการ ปฏิรูปครูอาจารย์ การสอน การเรียนมากกว่าการลงทุนด้านโครงสร้างหรือเทคโนโลยีการสื่อสาร ประเทศไทยมีการลงทุนทางวัตถุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนในเมือง นักเรียนไทยใช้คอมพิวเตอร์และกวดวิชามากขึ้นแต่กลับเป็นผลลบมากกว่า เพราะนักเรียนไทยยังเรียนแบบท่องจำเพื่อการสอบ ไม่ได้ฝึกการคิด วิเคราะห์


การกระจายการศึกษาให้เป็นธรรมขึ้น ให้มีครูที่มีคุณภาพไปสอนในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก็เป็นอีกวิธี หนึ่งในการทำให้นักเรียนในประเทศนั้นๆ เรียนรู้และทำคะแนนได้สูงขึ้น ประเทศอย่าง นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ เป็นตัวอย่างที่ดี โดยใช้งบประมาณการศึกษาต่อหัวนักเรียนน้อยกว่า สหรัฐ แต่นักเรียนของเขาคะแนนเฉลี่ยสูงกว่านักเรียนสหรัฐ ประเทศไทยควรลุกขึ้นมาปฏิรูปหรืออภิวัฒน์การศึกษาครั้งใหญ่ ก่อนที่ประเทศจะเสื่อมถอยไปสู่ความหายนะ เพราะพลเมืองมีความรู้ใช้งานได้ต่ำกว่าประเทศอื่น และลดต่ำลงจากเมื่อก่อน

Tags : สัญญาณอันตราย นักเรียนไทย ความรู้แบบใช้งานได้ น้อยลง

view