Special Audit : สัญญาณพิเศษที่ต้องจับตามอง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สุรีรัตน์ สุรเดชะ
เมื่อพูดถึงคำว่า “พิเศษ” เรามักนึกถึงสิ่งดีๆ ที่แตกต่างไปจากปกติธรรมดา อย่างการได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าบางประเภท
หรือ การเป็นแขกพิเศษสำหรับสถานที่บางแห่ง แต่ในบางครั้งความ "พิเศษ" อาจไม่จำกัดวงว่า ต้องเป็นเรื่องดีเสมอไป เช่นเรื่องราวต่อไปนี้ที่เกี่ยวกับ การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ หรือ special audit สิ่งนี้คืออะไร? และในฐานะผู้ลงทุน หากบริษัทที่คุณถือหุ้นอยู่ถูกสั่งให้มีการทำ special audit คุณควรทำอย่างไร? วันนี้เราจะไปติดตามกัน
เมื่อสงสัย ก็ต้องทำความจริงให้กระจ่าง
การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ หรือ special audit คือ การที่ ก.ล.ต. สั่งให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินการให้มีผู้สอบบัญชีเข้ามาตรวจสอบงบการเงินของ บริษัทเพิ่มเติมในบางประเด็น ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงมากกว่าการตรวจสอบปกติ เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในงบการเงินอาจจะมีประเด็นที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ซึ่งหากผู้ลงทุนนำไปใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน ก็อาจส่งผลเสียต่อการลงทุนได้ จึงต้องทำให้เกิดความกระจ่างขึ้นเสียก่อน
อะไรเป็นตัวส่งสัญญาณ?
โดยปกติงบการเงินของบริษัท จดทะเบียนจะต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีตามรอบระยะเวลา เป็นรายปีและรายไตรมาสอยู่แล้ว และผู้สอบบัญชีก็จะให้ความเห็นว่างบการเงินนั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และเพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ขอทวนอีกครั้งว่าความเห็นของผู้สอบบัญชีมี 5 แบบด้วยกันคือ
1. งบการเงินถูกต้อง
2. งบการเงินถูกต้องแต่มีเงื่อนไขบางเรื่อง คือ ถ้าไม่นับเรื่องที่ระบุเป็นเงื่อนไขไว้ งบการเงินที่เหลือถูกทั้งหมด
3. งบการเงินถูกต้องแต่มีข้อสังเกตบางเรื่องที่ผู้สอบบัญชีอยากเน้นให้ระวัง เช่น รายได้หลักของบริษัทมาจากคู่ค้าเพียงรายเดียวเท่านั้น
4. ไม่อาจแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือติดข้อจำกัดบางประการ
5. งบการเงินไม่ถูกต้อง
หากผู้สอบบัญชีให้ความเห็นในแบบที่ 2-5 เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้คุณระมัดระวังในการนำข้อมูลงบการเงินนั้นไปใช้
และจากความเห็นของผู้สอบบัญชีนี่เอง เป็นหนึ่งในตัวจุดประกายให้ ก.ล.ต. เริ่มสะกิดใจและตามดูต่อไป ว่ามีอะไรที่น่าสงสัยเกี่ยวกับงบการเงินนั้นหรือไม่ ซึ่งนอกจากความเห็นของผู้สอบบัญชีแล้ว สัญญาณอีกสองตัว ที่ช่วยให้ ก.ล.ต. สังเกตความผิดปกติของบริษัทก็มาจาก การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัท และ ข้อมูลต่างๆ ในงบการเงิน ซึ่งผลลัพธ์จากการทำ special audit อาจออกมาได้เป็น 2 แนวทาง ทางแรก คือ อาจจะ ไม่พบการทำความผิด ทางที่สอง คือ บริษัทจดทะเบียนมีการทำความผิดจริง ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ มักตามมาด้วยการที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหาร หรือสั่งให้บริษัทจดทะเบียนแก้ไขงบการเงินในที่สุด
ดังนั้น การสั่งทำ special audit นอกจากเป็นไปเพื่อทำให้ความจริงชัดเจนแล้ว ยังอาจถือเป็นสัญญาณที่ส่งออกมาจากหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อบอกผู้ลงทุนให้จับตามองว่าบริษัทจดทะเบียนมีประเด็นที่น่าสงสัยใน เรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่
ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเช่น บริษัททำธุรกิจซื้อมาขายไป ซึ่งในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนมาตลอด เนื่องจากยอดขายสินค้าต่ำมาก แต่พอมาปีนี้ ผลประกอบการกลับเปลี่ยนเป็นกำไรอย่างมาก โดยที่มาของรายได้ที่ทำให้เกิดกำไรนั้นไม่ได้มาจากการขายสินค้า แต่กลับมาจากการให้เช่าโกดังสินค้า ทั้งๆ ที่บริษัทไม่ได้ทำธุรกิจให้เช่า ไม่เคยมีรายได้จากค่าเช่า และไม่มีทรัพย์สินที่จะปล่อยเช่ามาก่อนเลย ตัวเลขรายได้ค่าเช่าที่ผิดปกติดังกล่าว ก็อาจเป็นประเด็นที่น่าสงสัย ก.ล.ต. ก็จะสั่งให้บริษัทจ้างผู้สอบบัญชีมาทำ special audit เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มาที่ไป เอกสารหลักฐาน และความสมเหตุสมผลของรายได้ค่าเช่าที่เกิดขึ้น
ท้ายที่สุด ผลการทำ special audit ปรากฏออกมาว่า บริษัทไม่ได้มีการให้เช่าทรัพย์สินจริง แต่เป็นการตกแต่งตัวเลขในงบการเงินด้วยการสร้างเรื่องราวและทำเอกสารหลักฐาน ขึ้นมาให้ดูเสมือนว่าบริษัทมีการให้เช่าทรัพย์สินเพื่อรับรู้รายได้ และทำให้งบการเงินของบริษัทมีผลประกอบการกำไร เป็นต้น
ต้องใส่ใจทุกครั้งเมื่อมีข่าว special audit
ส่วนผู้ลงทุน เมื่อบริษัทที่คุณถือหุ้นอยู่ถูก ก.ล.ต. สั่ง special audit สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือ ติดตามข่าวว่า ก.ล.ต.สั่งให้มีการตรวจสอบเป็นพิเศษในเรื่องใด (ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะมีการออกแถลงข่าวทุกครั้งเมื่อมีการสั่ง special audit ผู้ลงทุนสามารถติดตามข่าวได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th เลือกหัวข้อ "งบการเงิน" จากเมนู Shortcut) เพื่อที่คุณจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะยังคงถือหุ้นนั้นต่อไปหรือไม่ ลำดับถัดไป ก็ต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดว่าขั้นตอนการทำ special audit มีความคืบหน้าอย่างไร และท้ายที่สุดผลออกมาเป็นอย่างไร เพราะหากผลออกมาในแนวทางที่ต้องมีการแก้ไขงบการเงิน ก็เป็นไปได้สูงที่จะกระทบกับมูลค่าหุ้นที่คุณลงทุนอยู่นั่นเอง
ช่วงปลายเดือนมีนาคมตลอดไปจนถึงปลายเดือนเมษายนนี้ กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี วาระหนึ่งที่จะต้องมีทุกครั้งในการประชุมผู้ถือหุ้น ก็คือ การพิจารณางบการเงิน
หากบริษัทที่คุณถือหุ้นอยู่ในระหว่างการทำ special audit ก็ถือเป็นโอกาสดีที่คุณจะใช้เวทีนี้ซักถามกรรมการบริษัท ถึงเรื่องราวความเป็นมา และความคืบหน้าในการดำเนินการ รวมถึงประเด็นอื่นที่อาจค้างคาใจ สำหรับ ผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการถือหุ้นในบริษัทที่ถูก special audit ก็ยังควรใช้สิทธิเข้าร่วมประชุมหรือมอบอำนาจให้ผู้แทน โดยถือเวทีนี้เป็นช่องทางตรวจสอบการทำงานของบริษัทจดทะเบียนที่คุณถือหุ้น อยู่ อย่างน้อยเพื่อให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนรู้ว่าผู้ลงทุนจับตามองการทำงาน ของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
สุรีรัตน์ สุรเดชะ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
E-mail: info@sec.or.th
***บทความนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนแก่สาธารณชน
การนำข้อมูลไปอ้างอิง ควรตรวจสอบความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย***