แม้ชาวอามิชก็ต้องคิดหนัก
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดร.ไสว บุญมา
สื่อที่เสนอการถล่มของเขาพนมในจังหวัดกระบี่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสรุปกันว่า การทำลายป่าเพื่อทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ลาดชัน
เป็นปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น ยังผลให้นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ของภาคใต้โต้แย้งทันทีว่า สวนยางพาราและปาล์มน้ำมันจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาถ้าฝนไม่ตกลงมาเป็นเวลาหลายวัน การโต้แย้งเช่นนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากนักการเมืองผู้นั้นอยู่ในกระบวนการทำลายป่า เพื่อทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันมานมนานแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะเสนอในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ใครผิดใครถูก หรือใครเลวใครดี หากอยู่ที่ความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เห็นกันอยู่
การปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่วางอยู่บนฐานของการคิดว่าเศรษฐกิจจะต้องขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานสังคมต่างๆ พากันผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปเพราะปัจจัยสองอย่าง คือ จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นและทุกคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น (การบริโภคในที่นี้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการใช้ทรัพยากรทุกอย่าง ไม่เฉพาะการส่งสิ่งต่างๆ เข้าปากเท่านั้น) ยางพาราและปาล์มน้ำมันต้องการที่ดินซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากการถางป่า ซึ่งไม่น่าจะทำเพราะปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งความเสี่ยงต่อการถล่มของดินเมื่อฝนตกหนัก
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้อ้างถึงการศึกษาเรื่องการทำลายป่าซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายของอาณาจักรโบราณ วันนี้ขอชี้ว่ากระบวนการเดียวกันยังกำลังเกิดขึ้น ผู้ที่ได้อ่านหนังสือ หรือดูภาพยนตร์ของอดีตประธานาธิบดีอเมริกัน อัล กอร์ เรื่อง "An Inconvenient Truth" อาจจำภาพเกาะฮิสปันโยลาที่แนบมานี้ได้ ส่วนตะวันตกของเกาะเป็นประเทศเฮติและส่วนตะวันออกเป็นสาธารณะโดมินิกัน เขาต้องการแสดงให้เห็นว่า เฮติทำลายป่าจนเตียนหมดจึงล่มสลาย ส่วนโดมิกันรักษาป่าไว้จึงอยู่ได้อย่างมั่นคง
อันที่จริง อัล กอร์ ไม่ใช่คนแรกที่นำภาพนั้นมาแสดง เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นการล่มสลายของเฮติ ศาสตราจารย์จาเรด ไดอะมอนด์ ทำมาก่อนแล้วในหนังสือชื่อ "Collapse" หรือ "ล่มสลาย" ซึ่งคอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นอกจากจะศึกษาเรื่องการทำลายป่าซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายแล้ว ศาสตราจารย์ไดอะมอนด์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการรักษาป่า ทำให้สังคมก้าวหน้าอย่างไรซึ่งคอลัมน์นี้ได้เคยอ้างถึงแล้วเช่นกัน นั่นคือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชียที่พัฒนาได้ก้าวหน้าทัดเทียมกับฝรั่ง เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้วางอยู่บนฐานของการทำลายป่า เพื่อนำที่ดินมาปลูกพืชกันขนานใหญ่ ในขณะนี้ ราว 74% ของพื้นที่ของญี่ปุ่นจึงยังเป็นป่า
อนึ่ง อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในอเมริกาอันเป็นศูนย์กลางของการผลักดันให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบสุดโต่งนั้น มีชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งซึ่งดำเนินชีวิตแบบทวนกระแสมานานชื่อ "อามิช" ชาวอามิชยังผลิตและบริโภคในแนวที่พวกเขาทำกันมาตั้งแต่ครั้งโลกยังไม่มีเครื่องจักรกล ฉะนั้น พวกเขาไม่ใช่เครื่องยนต์ หากยังใช้ม้าลากไถและไปไหนมาไหนด้วยรถม้า ไม่ใช่ไฟฟ้าและโทรศัพท์ในบ้าน บริโภคบนฐานของความจำเป็นเบื้องต้น พึ่งตนเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มุ่งแสวงหาความร่ำรวยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชน ในขณะนี้ มีผู้สนใจศึกษาแนวคิดและการดำเนินชีวิตของชาวอามิชเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมองว่ามันน่าจะป้องกันมิให้โลกล่มสลายได้เป็นอย่างดี
ในฐานะที่ได้ศึกษาวิถีชีวิตของชาวอามิชมาเป็นเวลานาน ขอยืนยันว่าชาวอามิชดำรงชีวิตได้ไม่ด้อยกว่าชาวอเมริกันโดยทั่วไปแม้จะไม่ใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยและไม่ร่ำรวยระดับเศรษฐี แต่มีข้อแม้อย่างหนึ่งซึ่งชาวอามิชก็จะต้องคิดอย่างหนัก คือ การมีลูกมากเนื่องจากไม่มีการควบคุมการเกิดของประชากร ด้วยเหตุนี้ ชาวอามิชจึงต้องขยายชุมชนไปตั้งตามถิ่นต่างๆ อย่างต่อเนื่องและทำลายป่า เพื่อนำที่ดินมาทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากการทำลายป่าแล้ว ชาวอามิชยังมักทำลายสิ่งแวดล้อมสำคัญอีกด้านหนึ่งด้วย ทั้งนี้ เพราะมูลสัตว์ที่พวกเขาเลี้ยงจำนวนมากมักไหลลงไปในแหล่งน้ำ จนทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรง
ฉะนั้น วิถีชีวิตของชาวอามิชที่น่าจะนำมาคิดเลียนแบบควรจะอยู่ที่การจำกัดการบริโภคของแต่ละคนให้อยู่บนฐานของความจำเป็น พึ่งตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มุ่งแสวงหาความร่ำรวยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชน แต่ไม่เลียนแบบการมีลูกหลายคนจนนำไปสู่การทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม