บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.)
คำนำ
บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน(บบส.) จัดตั้งโดยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินและฟื้นฟูสถานะการ ดำเนินงานของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ประสบปัญหาในช่วงวิกฤตของเศรษฐกิจไทยโดยมีวัตถุประสงค์ การจัดตั้ง เพื่อประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์จากการประมูลขายขององค์การ เพื่อการปฏิรูประบบ สถาบัน การเงิน (ปรส.) และจากองค์กรอื่นๆ เพื่อนำมาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และการจำหน่าย ทรัพย์สินที่ได้รับจากการโอนตีชำระหนี้ให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายขององค์กรเพื่อช่วยลูกหนี้คนไทยที่สุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม และผ่านพ้นวิกฤตทางเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี ในขณะเดียวกันก็จะหลีกเลี่ยงการขาดทุนและพยายามสร้างผลกำไร นำส่งคืนให้แก่รัฐเพื่อชดเชยความเสียหายจากปัญหาสถาบันการเงิน และดำเนินงานด้วยความสุจริตและโปร่งใส สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการดำเนินงานการปรับโครงสร้างหนี้และการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายของ บบส. ในช่วงปี 2542 – 2546 (ณ 30 มิถุนายน 2546) โดยตรวจสอบเฉพาะลูกหนี้ที่ซื้อจาก ปรส. และการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ทราบว่า การดำเนินงานดังกล่าวบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของ บบส. หรือไม่ อย่างไร
ผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ
ข้อตรวจพบที่ 1 การประนอมหนี้ยังไม่บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของ บบส. เท่าที่ควร
การประนอมหนี้ยังไม่บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของ บบส. เท่าที่ควร โดยมีมูลค่าผลลัพธ์ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (Floor) ซึ่งทำให้รัฐได้รับการชดเชยความเสียหายจากปัญหาสถาบันการเงินต่ำกว่าที่ควร และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ที่ได้รับการปรับลดหนี้น้อย โดยเฉพาะลูกหนี้รายเล็ก กล่าวคือ
1.1 มูลค่าผลลัพธ์การประนอมหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (Floor) จำนวนมาก มีลูกหนี้บางส่วนได้รับการประนอมหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (Floor)
1.2 อัตราร้อยละการปรับลดหนี้ (Hair Cut) แตกต่างกันมาก โดยลูกหนี้รายใหญ่ได้รับการปรับลดหนี้ในอัตราสูง
สาเหตุ 1) การพิจารณาอนุมัติแผนการประนอมหนี้ของ คปน. และ/หรือ คณะกรรมการ บบส. ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การโอนตีชำระหนี้
2) การนำเสนอข้อมูลเพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการประนอมหนี้ไม่ครบถ้วน
3) ความไม่เหมาะสมของเกณฑ์ร้อยละ 75 ของยอดหนี้ต้นเงินคงค้าง (UPB)
ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของ บบส. ให้คณะกรรมการ บบส. และ คปน. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) ประนอมหนี้ตามหลักเกณฑ์การโอนตีชำระหนี้กับลูกหนี้ทุกราย
2) กำชับให้ฝ่ายประนอมหนี้ควบคุมและตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่เจ้าหน้าที่นำเสนอ เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการประนอมหนี้
3) ทบทวนความเหมาะสมของเกณฑ์ร้อยละ 75 ของ UPB โดยคำนึงถึงนโยบายและเป้าหมายที่สำคัญของ บบส.
ข้อตรวจพบที่ 2 การขายทรัพย์สินรอการขายยังไม่บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของ บบส. เท่าที่ควร
จากการตรวจสอบการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายในปี 2543 – 2546 (ณ 30 มิถุนายน 2546) ของ บบส. พบว่า การขายทรัพย์สินรอการขายยังไม่บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของ บบส. เท่าที่ควรโดยกรณีลูกหนี้ซื้อคืนตามเงื่อนไข FBO และกรณีขายให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้มีราคาขายต่ำกว่าราคาเกณฑ์ขั้นต่ำ (Floor) 772.63 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,798.27 ล้านบาท ซึ่งทำให้รัฐได้รับการชดเชยความเสียหายจากปัญหาสถาบัน การเงินต่ำกว่าที่ควร และรัฐสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สิน ภาษีเงินได้ และภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวนมาก
ก) กรณีลูกหนี้ซื้อคืนตามเงื่อนไข First Buyer Option (FBO)
(1) ราคาขายต่ำกว่าราคาประเมินของบบส. และกรมที่ดินจำนวนมาก มีการขายทรัพย์สินจำนวนมากคืนให้กับลูกหนี้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินของ บบส. และ กรมที่ดิน
(2) ราคาขายต่ำกว่าราคาโอนตี มีการขายทรัพย์สินบางรายการคืนให้กับลูกหนี้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาโอน
(3) ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนใหญ่มิใช่ลูกหนี้ มีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินจำนวนมากที่ขายคืนให้กับลูกหนี้ในนามบุคคล/นิติบุคคลอื่น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สิน ภาษีเงินได้ และภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวนมาก
ข) กรณีขายให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ (1) ราคาขายต่ำกว่าราคาประเมินของ บบส. และกรมที่ดินจำนวนมาก มีการขายทรัพย์สินจำนวนมากให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินของ บบส. และกรมที่ดิน
(2) ราคาขายต่ำกว่าราคาโอนตี มีการขายทรัพย์สินบางรายการให้กับบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ในราคาต่ำกว่า ราคาโอนตี
(3) ราคาขายต่ำกว่าราคาเกณฑ์ขั้นต่ำ (Floor) จำนวนมาก มีการขายทรัพย์สินจำนวนมากให้กับบุคคลอื่นที่ ไม่ใช่ลูกหนี้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาเกณฑ์ขั้นต่ำ (Floor)
(4) ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินมิใช่ผู้เสนอซื้อ มีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินบางรายการที่ขายให้บุคคล/นิติบุคคล อื่นซึ่งมิใช่ผู้เสนอซื้อ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมและภาษี
สาเหตุ ก) กรณีลูกหนี้ซื้อคืนตามเงื่อนไข First Buyer Option (FBO)
1) การกำหนดราคาซื้อคืนสูงกว่าราคาประเมินของ บบส.
2) การให้สิทธิลูกหนี้ขอซื้อทรัพย์คืนในราคาต่ำกว่าราคาที่ บบส. อนุมัติขายให้กับบุคคลอื่น
3) การให้สิทธิลูกหนี้สามารถระบุชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทนได้
ข) กรณีขายให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ 1) การพิจารณาอนุมัติขายทรัพย์สินรอการขายของ คกข. และคณะกรรมการ บบส. ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2) การนำเสนอข้อมูลเพื่อพิจารณาอนุมัติขายคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
3) กรณีพบว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับลูกหนี้แต่ไม่มีการพิจารณาดำเนินการ หรือทบทวนการอนุมัติขาย
4) การให้สิทธิผู้เสนอซื้อสามารถระบุชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทนได้
ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายของ บบส. และรักษาผลประโยชน์รายได้ของรัฐ ให้คณะกรรมการ บบส. และ คกข. พิจารณาดำเนินการดังนี้
ก) กรณีลูกหนี้ซื้อคืนตามเงื่อนไข First Buyer Option (FBO)
1) ทบทวนการกำหนดราคาซื้อคืนสูงกว่าราคาประเมินของ บบส. และเงื่อนไขราคาซื้อคืน
2) ยกเลิกการให้สิทธิลูกหนี้ในการระบุชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินแทน
ข) กรณีขายให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้
1) อนุมัติขายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2) กำชับให้ฝ่ายการตลาดควบคุมและตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่เจ้าหน้าที่นำเสนอ เพื่อพิจารณาอนุมัติขาย
3) การนำเสนอเหตุผลของ คกข. ควรมีเอกสารหลักฐานประกอบอย่างเพียงพอเพื่อให้คณะกรรมการ บบส. พิจารณา
4) กำหนดมาตรการดำเนินการและ/หรือ ทบทวนการอนุมัติขาย กรณีพบว่า ผู้เสนอซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับลูกหนี้
5) ยกเลิกการให้สิทธิผู้เสนอซื้อในการระบุชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินแทน
นอกเหนือจากข้อเสนอแนะตามที่กล่าวไว้ข้างต้น คณะกรรมการของ บบส. และกรรมการผู้จัดการ บบส. ควร พิจารณาให้ความสำคัญในสิ่งต่อไปนี้
1) ราคาประเมินหลักประกันหรือทรัพย์สินรอการขายที่ใช้พิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้และการจำหน่ายทรัพย์สิน รอการขาย ควรเป็นราคาที่เป็นธรรม
2) การแต่งตั้งคณะกรรมการประนอมหนี้(คปน.) และคณะกรรมการขายทรัพย์สินรอการขาย(คกข.) ควรเป็นไป ตามหลักธรรมาภิบาล และมิให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์(Conflict of Interest) โดยจะต้องรายงาน ข้อมูลให้ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อก่อให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร