เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ กรมสรรพากร โดยดร. สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร และผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร เข้าชี้แจงงบประมาณ ปี ๒๕๕๖ ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๖ วุฒิสภา ณ อาคารรัฐสภา ๒ หลังจากที่ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ส.ส. มาแล้วเมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ อาคารรัฐสภา ๓ ซึ่ง กมธ. ทั้ง ๒ คณะ ได้เห็นชอบในกรอบงบประมาณ ปี ๒๕๕๖ ของกรมสรรพากรและตั้งข้อสังเกตว่าการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะกระทบต่อรายได้ของประเทศหรือไม่
ดร. สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโดยปรับลดอัตราภาษีเงินได้และเน้นการจัดเก็บภาษีการบริโภคแทน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนจะพบว่าก่อนปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลง ประเทศไทยมีอัตราภาษีสูงเกือบที่สุด ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นจะต้องปรับลดอัตราภาษีลงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเมื่อปรับลดลงเหลือร้อยละ ๒๓ ในปีนี้ และร้อยละ ๒๐ ในปีหน้าเป็นต้นไป ประเทศไทยก็จะสามารถก็แข่งขันกับประเทศอื่นได้มากขึ้น โดยมีเพียงประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าประเทศไทยที่ร้อยละ ๑๗”
ดร. สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่กรมสรรพากรก็มีมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น เช่น การตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ E-commerce อย่างเข้มงวด หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมทั้งเสริมสร้างการให้บริการผู้เสียภาษีไปพร้อมกันซึ่งกรมสรรพากรมั่นใจว่าการขยายฐานภาษีดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้มากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน”